เดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นเดือนที่ลูกศิษย์ นักเรียน นักศึกษาจะได้มีโอกาสเข้าไปแสดงความเคารพรักและระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ที่ตลอดเวลาที่เรียนนั้น ท่านได้คอยอบรม สั่งสอนให้เราเป็นคนดี โดยทุกวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนนี้ถือเป็นวันไหว้ครู ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566

-ประวัติวันไหว้ครู

“ครู” มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า “หนัก” อันหมายถึงความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคนๆหนึ่งจะเติบโตมีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลยในชีวิตของคนๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน ครูคนแรก ของเราแล้ว การที่เด็กๆจะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ครู ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้นครูจึงเป็นบุคคลสำคัญเป็นที่สอง รองไปจากบิดามารดาที่เราทุกคน ควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน เพราะหากโลกนี้ ไม่มีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูแล้ว สรรพวิชาต่างๆก็คงสูญหายไปจากพิภพ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงเป็นครูของโลก พระองค์หนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองการบูชาครู การไหว้ครู จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมา แต่โบราณถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต

-ความสำคัญพิธีไหว้ครู

การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่าตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน

-ครูมีหน้าที่ต่อศิษย์ตามหลักธรรมอยู่ 5 ประการคือ

1.แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี

2.สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

3.สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

4.ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ

5.สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพและรู้จักดำรงรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี

-ทางพุทธศาสนาสอนให้ศิษย์แสดงความคารวะนับถือตอบครูอาจารย์ 5 ประการเช่นกันคือ

1.ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ

2.เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ ฯลฯ

3.ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา

4.ปรนนิบัติ ช่วยบริการ

5.เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ

-พิธีไหว้ครูในโรงเรียน และดอกไม้ในพานไหว้ครู

โดยปกติสถานศึกษามักจัดพิธีไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 หรือวันใดวันหนึ่งในราวเดือนมิถุนายนดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู ในพิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อนจะใช้ดอกไม้ในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่

หญ้าแพรก สื่อถึงเป็นหญ้าที่เติบโตเร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์ เมื่อได้รับการสั่งสอนก็พร้อมจะเรียนรู้ เหมือนดังหญ้าแพรกที่แม้บางครั้งจะเหี่ยวเฉาไป แต่เมื่อใดที่ได้รับน้ำก็พร้อมจะเติบโตทันที

ดอกเข็ม สื่อถึงสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม

ดอกมะเขือ สื่อถึงมะเขือนั้นจะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง และดอกงอกงามได้อย่างรวดเร็ว

ข้าวตอก สื่อถึงความรู้ที่แตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว เหมือนลักษณะของข้าวสาร เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว” นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ “คั่ว”คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนเหล่านั้นจะ “แตก”ฉานสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้

ขอขอบคุณข้อมูล srisuvit.ac.th