นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สามารถรวมเสียงได้เกินกว่า 300 เสียง ซึ่งถือว่าเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องผ่านการโหวตจาก สมาชิกวุฒิสภา อย่าได้ไปหลงเชื่อข้อมูลเท็จตามข่าวก่อนหน้านี้ เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติอย่างชัดเจนให้ ส.ว. ทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ในอดีต ส.ว. ยังเคยทำหน้าที่โหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจเสียด้วยซ้ำ
นายสามารถ กล่าวว่า ในอดีตเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 มีการปรับราคาน้ำมัน ของรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีนโยบายปรับราคาน้ำมันขึ้นตามราคาตลาดโลก โดยมีความพยายามปรับขึ้นหลายครั้ง จนพรรคฝ่ายค้านหยิบหยกประเด็นนี้ชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงข้อบกพร่องในการบริหารประเทศ นำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 แต่พลเอก เกรียงศักดิ์ มองว่าจะขาดเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. หากเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงได้ชิงลาออกตำแหน่ง ทำให้ต้องมีการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งครั้งนั้นมีแคนดิเดตว่าที่นายกรัฐมนตรีหลายคน แต่เสียงส่วนใหญ๋โหวตให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มากถึง 395 เสียง มาจาก ส.ส. 195 เสียง และจาก สว. 200 เสียง
“ การเลือกนายกฯ โดยใช้ สว.เลือก มันไม่ได้เพิ่งมี มันมีมานานแล้ว ฉนั้นการที่บอกว่ารัฐบาล พลเอกประยุทธ รัฐบาลพลเอก ประวิตร สืบทอดอำนาจ เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ใช่ครับ รธน.บัญญัติไว้ ให้ ส.ว.ก่อนหน้านี้ ร่วมอภิปราย ไม่ไว้วางใจด้วยซ้ำ และเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แต่รัฐธรรมนูญ ปี 60 กำหนดให้ ส.ว.ได้แค่กลั่นกรองนายกฯ ไม่มีสิทธิเสนอ ซึ่งเป็นการถ่วงดุล ใครไม่รู้ จงรู้ไว้ ตาสว่างซะ “
นายสามารถ ย้ำว่า การจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา จะข้ามขั้นตอนไปไม่ได้
ดังนั้น วันนี้ผมจึงอยากบอกให้ทุกคนได้เข้าใจ ว่าไม่ใช่การเอาเปรียบหรือเผด็จการแต่อย่างใด