วันที่ 6 มิ.ย.66 พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ได้เปิดเผยว่า เนื่องในสัปดาห์วันวิสาขบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และองค์การสหประชาชาติ ( UN ) ได้รับรองให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก ตั่งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2542 เป็นต้นมา ที่เป็นความสำคัญคือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระธรรมทูต วัดพระธรรมกาย ร่วมกับ สมาคมชาวพุทธอินโดนีเซีย จัดงาน WAISAK NASIONAL LIGHT OF PEACE เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 จุดโคมประทีป 3,000 ดวง วันวิสาขบูชา หน้ามหาเจดีย์บุโรบุโด Borobudur อำเภอมาเกอลัง จังหวัดชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย
บรรยากาศงาน WAISAK NASIONAL LIGHT OF PEACE วันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่ เพื่อรำลึกถึงพระคุณอันไม่มีประมาณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเน้นในการสอนสมาธิเป็นหลัก ก่อนจุดโคมไฟภายนอก และจุดความสว่างภายใน ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา โดยในปีนี้จัดตรงกับวันที่ 4 มิถุนายน ตามคำเชิญของสมาคมชาวพุทธชื่อ “Walubi” ซึ่งมีการปิดถนนให้ริ้วขบวนพาเหรดเดินผ่าน ระยะทางเกือบ 5 กิโลเมตร สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจชาวอินโดนีเซียหลายศาสนา เช่นศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู ฯลฯต่างมายืนริมถนนเพื่อคอยชมริ้วบวนพาเหรด ในวันสำคัญทางพระพุทธสาสนา วันวิสาขบูชา ตลอดเส้นทาง ซึ่งมีคณะสงฆ์จากประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ลาว และกัมพูชา เป็นต้นเข้าร่วมพิธี ซึ่งริ้วขบวนรถบุปผาชาติและสมาคมชาวพุทธ กว่า 20 องค์กร อัญเชิญ น้ำและไฟศักดิ์สิทธิ์ จากวัดเมนดุตไปยังมหาเจดีย์บรมพุทโธ ระยะทาง 4 กิโลเมตร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาภาคกลางคืนก็จะมีการนั่งสมาธิ ลอยโคมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งที่นี้จะทำร่วมกันทั้งมหายาน มหานิกาย ธรรมยุต เป็น “สังฆสามัคคี”
สำหรับมหาเจดีย์บุโรบุโด มีชื่อเต็มว่า จันดีโบโรบูดูร์ คนไทยรู้จักในชื่อ บรมพุทโธหรือ บุโรพุทโธ สร้างด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านตารางฟุต มีพื้นที่มากกว่า 55,000 ตารางเมตร เป็นวัดนิกายมหายาน ตั้งอยู่บนที่ราบเกฑุ ทางฝั่งขวาใกล้กับแม่น้ำโปรโก ในภาคกลางของเกาะชวา อำเภอมาเกอลัง จังหวัดชวากลาง ของประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากยอกยาการ์ตา ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.1293-1393 มหาเจดีย์บุโรพุทโธเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ต่อมา ในปีพ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้มหาเจดีย์บุโรพุทโธเป็นมรดกโลก ซึ่งมหาเจดีย์บุโรพุทโธ เปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 121 เมตร สูง 123 เมตร เป็นรูปทรงแบบปิรามิด มีลานเป็นชั้นลดหลั่นกัน 8 ชั้น และใน 8 ชั้นนั้นมี 5 ชั้นล่างเป็นลาน 4 เหลี่ยมและ 3 ชั้นบนเป็นลานวงกลม สามวงกลมยอดโดมกลางและบนลานกลมชั้นสูงสุดมีพระสถูป สูงขึ้นไปอีก 31.5 เมตร เป็นมหาสถูปที่ระเบียงซ้อนกันเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป มหาสถูปมีการตกแต่งด้วยภาพสลัก 2672 ชิ้น และ รูปปั้นพระพุทธรูป 504 องค์ โดมกลางล้อมรอบด้วย 72 รูปปั้นพระพุทธรูปแต่ละองค์นั่งอยู่ภายในสถูปเจาะรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด รอบล้อมสถูปเจดีย์มีภาพสลักหินเล่าถึง 1460 เรื่องที่แสดงถึงชีวิตของพระพุทธเจ้าและข้อความทางพุทธศาสนาที่จารึกไว ที่ชั้นบนสุดเป็นส่วนยอดสุดของวิหาร มีลักษณะเป็นฐานวงกลมใหญ่ของเจดีย์องค์ประธาน เวลาที่มองมาจากที่ไกล จะเห็นเป็นเหมือนดอกบัวขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่กลางหุบเขา ปรากฏอยู่เหมือนพ้นจากความต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง มีผู้อุปมาภาพที่ปรากฏนี้ว่า แสดงถึงการหลุดพ้นจากทุกสรรพสิ่งในโลกหรือที่เรียกว่านิพพาน อันเป็นจุดหมายสูงสุดของศาสนาพุทธ ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากร 273.5ล้านคน 86.70% อิสลาม , 10.72% คริสต์, 1.74% ฮินดู, 0.77% พุทธ (1,703,300 คน), 0.03% ลัทธิขงจื้อ, 0.4% พื้นเมือง/อื่นๆ ซึ่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนสูงมากใครจะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ และที่สำคัญที่สุดรัฐบาลอินโดนีเซีย ยังประกาศให้วันวิสาขบูชา เป็นวันหยุดประจำชาติอีกด้วย
พระครูธีรญาณวิเทศ เจ้าอาวาสวัดพุทธที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพระภิกษุจากประเทศไทยที่มาอยู่ประเทศอินโดนีเซียมาเกือบ 15 ปีแล้ว ท่านเล่าว่า วัดไทยส่วนใหญ่ที่นี้เป็นวัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ส่วนของฝ่ายมหานิกายก็จะมีเพียงแต่วัดและศูนย์ปฎิบัติธรรมของวัดพระธรรมกาย 10 แห่งทั่วประเทศ คนมุสลิมและศาสนาอื่น ๆ ในประเทศอินโดนีเซียเป็นมิตรกับชาวพุทธมาก อย่างวันที่ 4 นี้เราจัดงานวิสาขบูชาที่ “บุโรพุทโธ” จะมีคนมุสลิม คนคริสต์ คนฮินดูมาร่วมด้วย หลังจากนั้นจะมีพระภิกษุและสมาคมต่าง ๆ ร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์ ณ บริเวณเจดีย์บุโรพุทโธ
พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี กล่าวเพิ่มว่า วัดพระธรรมกายได้จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา ในวันวิสาขบูชา วันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมงานบุญ 7 บุญใหญ่ ได้แก่ 1.พิธีตักบาตรพระ , 2.พิธีบูชาข้าวพระ , 3.พิธีอุปสมบทสามเณรอุทิศชีวิต 11 รูป , 4.พิธีหล่อพระประธาน เพื่อประดิษฐาน ณ ห้องแก้วสารพัดนึก2 , 5.พิธีจุดวิสาขประทีป , 6.พิธีเวียนประทักษิณ และ 7.พิธีฉลองชัยสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร นอกจากนี้กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่จัดขึ้น ณ วัดพระธรรมกาย ประเทศไทยแล้ว วัดพระธรรมกาย ร่วมกับองค์กรพุทธนานาชาติจัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก ในต่างประเทศด้วย อาทิ ร่วมกับรัฐบาลเนปาล คณะกรรมการลุมพินี คณะสงฆ์เนปาล วัดไทยลุมพินี และคณะสงฆ์นานาชาติทุกนิกาย จัดสวดพระปริตร เดินธรรมยาตรา จุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชา ณ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเทศเนปาล ร่วมกับคณะสงฆ์ ประเทศมาเลเซีย และ Dhammakaya meditation center of Selangor ประกอบพิธีสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม และจุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชา ร่วมกับชุมชนชาวพุทธในรัฐนิวเซาท์เวลส์ จัดงานฉลองวิสาขบูชานานาชาติ ‘THE AUSTRALIAN OBSERVANCE OF THE UNITED NATIONS DAY OF VESAK’ ณ วัด Phuoc Hue นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ร่วมจัดเทศกาลโคมดอกบัว (Lotus Lantern Festival 2023) เพื่อเฉลิมฉลองงานวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 เกาหลี ร่วมกับคณะรัฐบาล และชาวพุทธเวียดนาม จัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ณ วัดบาหว่าง ประเทศเวียดนาม ซึ่งชาวพุทธร่วมงานกว่า 60,000 คน และจัดงานวิสาขบูชามองโกเลีย ครั้งที่ 16 ด้วยการจุดประทีป 3,116 ดวง ถวายเป็นพุทธบูชา ณ ประเทศมองโกเลีย เป็นต้น
วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่ชาวพุทธทั่วโลกพร้อมใจกันตามระลึกและน้อมบูชาพระพุทธคุณอันยิ่งใหญ่ด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ตามหลักทาน ศีล ภาวนา เพื่อสั่งสมบุญบารมี ตามรอยบาทพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสอนให้รักสรรพสัตว์ทั้งหลาย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนให้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ และไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ คือ นิพพาน