นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเมษายน 2566 การส่งออกมีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่าหดตัว 7.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 737,788 ล้านบาท หดตัว 5.6% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนเมษายน หดตัว 6.8%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,195 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 797,373 ล้านบาท หดตัว 5.4% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนเมษายน 2566 ขาดดุลเท่ากับ 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 59,584 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-เมษายน ของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 92,003.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,110,977 ล้านบาท หดตัว 2.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน หดตัว 2.3%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 96,519.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.2% และมีมูลค่าการนำเข้าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,305,763 ล้านบาท ขยายตัว 0.8% ส่งผลให้การค้าของประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ขาดดุลเท่ากับ 4,516 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 194,786 ล้านบาท
ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 เติบโตระหว่าง 0-1% (ณ เดือนมิ.ย.66) สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญได้แก่ 1.ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล อาจส่งผลต่อแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลัง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 2.เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อทุกภาคส่วน ภาคการเงิน การผลิต ส่งออก วัตถุดิบ และพลังงาน 3.อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ 4.ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อความสามารถการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้าไทย 5.ปริมาณสินค้าคงคลังในประเทศคู่ค้ายังคงมีปริมาณสูง ส่งผลให้ชะลอคำสั่งซื้อออกไป 6.ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลต่อภาคการเกษตรในประเทศ
โดย สรท.มีข้อเสนอแนะได้แก่ 1.เร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออกและเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 2.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ SME มากจนเกินไป 3.ขอให้ภาครัฐช่วยบริการจัดการค่าไฟฟ้าอย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตที่ปรับสูงขึ้นและอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ 4.ขอให้มีกลไกในการขับเคลื่อนมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ สรท.ยังได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าต่างประเทศที่จะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วย 3 แนวคิดหลักคือ 1.ลดต้นทุน 2.ยกระดับประสิทธิภาพ และ 3.สร้างโอกาสทางการค้า เพื่อรองรับการส่งออกต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567