วันนี้ (6 มิถุนายน 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) จัดให้มีโครงการคลินิกแก้หนี้ (โครงการ) เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เบ็ดเสร็จในที่เดียว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และได้ปรับเกณฑ์การช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เห็นถึงความสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือน และต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้ครัวเรือน และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการได้อย่างเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะปรับดีขึ้น แต่ครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและมีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ จึงปรับเกณฑ์คุณสมบัติให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 120 วันขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมที่ต้องมีสถานะเป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น
นายอนุชาฯ กล่าวย้ำว่า นอกจากนี้โครงการได้เพิ่มทางเลือกแผนการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ในโครงการที่เริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระ ซึ่งหากผิดนัดชำระซ้ำจะต้องกลับไปดำเนินการแก้ไขหนี้โดยตรงกับเจ้าหนี้ โดยโครงการจะพิจารณาเหตุผลความจำเป็น เพื่อแนะนำแผนการชำระหนี้ใหม่ที่เหมาะสมให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณี เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ต่อเนื่องจนปลดหนี้ได้ในที่สุด ทั้งนี้ การปรับแผนการชำระหนี้ดังกล่าวจะจำกัดจำนวนครั้งและความถี่ อีกทั้งในระยะแรกของการปรับโครงสร้างหนี้ โครงการมีเงื่อนไขไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ เพื่อสร้างวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ได้อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถชำระได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยแนะนำให้ชำระหนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งจะกระทบประวัติทางการเงินและความสามารถในการกู้ยืมในอนาคต
“สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการมี ดังนี้ (1) เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ อายุไม่เกิน 70 ปี (2) เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ (3) เป็นหนี้เสีย (NPL) ค้างชำระมากกว่า 120 วัน (ตามรายงานเครดิตบูโร ณ เดือนปัจจุบันต้องมีสถานะค้างชำระตั้งแต่ 121-150 วันขึ้นไป) (4) หนี้รวมไม่เกิน 2 ล้านบาท และ (5) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงการดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูล หรือสมัครผ่านเว็บไซต์ (www.คลินิกแก้หนี้.com) LINE (@debtclinicbysam) และ Facebook (คลินิกแก้หนี้ by SAM) รวมทั้ง Call Center โทร. 1443 ได้ทุกวัน เวลา 09.00-19.00 น. พร้อมขอให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้รู้จักโครงการและรับทราบสิทธิในการสมัครเข้าร่วม เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น ก่อนที่จะถูกขายหนี้หรือถูกบังคับคดี” นายอนุชาฯ กล่าว