เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "ลิซ่า BLACKPINK" หรือ "ลลิษา มโนบาล" สมาชิกวงเกิร์ลกรุป ของประเทศเกาหลี ออกเดินทางท่องเที่ยวภายหลังเสร็จสิ้นการแสดงคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR [BORN PINK] BANGKOK ENCORE ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 27-28 พ.ค.66 ที่ผ่านมา
โดย "ลิซ่า" ได้โพสต์รูปลงในอินสตาร์แกรม @lalalalisa_m ซึ่งในรูป "ลิซ่า" ได้สวมเสื้อผ้าฝ้ายแขนสั้นกับผ้าซิ่นมัดหมี่ขิดย้อมครามไปเที่ยววัด และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พร้อมสะพายกระเป๋าแบรนด์ Celine ที่เจ้าตัวเป็น Global Brand Ambassador อีกด้วย เป็นการช่วยเผยแพร่ Soft Power ของไทยออกนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ขิด เที่ยววัดอยุธยา
ทั้งนี้ "ลิซ่า" พร้อมด้วยครอบครัวและเพื่อน ๆ ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ 1.วัดหน้าพระเมรุ 2.วัดมหาธาตุ 3.วัดแม่นางปลื้ม โดยมีประวัติพอสังเขป ดังนี้
"วัดหน้าพระเมรุ" เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีพระอุโบสถ ขนาดยาว 50 เมตร กว้าง 16 เมตรเป็นแบบอยุธยาตอนต้นซึ่งมีเสาอยู่ภายใน ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช 2046 มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ที่ตั้งของวัดนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหา กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้น
ต่อมา ได้สร้างวัดขึ้น มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ.2046 วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนอง ได้มีการทำสัญญาสงบศึกเมื่อ พ.ศ. 2106 ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส
ต่อมา สร้างขยายออกโดยเพิ่มเสารับชายคาภายนอกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาคและมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค หน้าต่างเจาะเป็นช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถวๆ ละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ส่วนลายแกะสลักบานประตูพระวิหารน้อย เป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนา แกะสลักจากพื้นไม้ไม่มีการนำชิ้นส่วนที่อื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมากสูงประมาณ 6 เมตรหน้าตักกว้างประมาณ 4.40 เมตร ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาสีเขียวหรือพระคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในวิหารสรรเพชญ์(หรือเรียกว่า วิหารน้อยเพราะขนาดวิหารเล็ก มีความยาว 16 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร) ซึ่งอยู่ข้างพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีนี้ นับเป็น 1 ใน 5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย
"วัดมหาธาตุ" ตั้งอยู่ในตัวเมืองอยุธยา มีสิ่งที่โดดเด่น คือ เศียรพระพุทธรูปกว่าร้อยปีในรากไม้ โดยเศียรพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปหินทรายเหลือแค่ส่วนเศียรสำหรับองค์พระนั้นหายไป และเป็นเศียรพระพุทธรูปเป็น ศิลปะอยุธยา วางอยู่ในรากโพธิ์ข้างวิหาร คาดว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุงจนรากไม้ขึ้นปกคลุม ทำให้มีความงดงามแปลกตากลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและ เป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ พบของโบราณหลายชิ้นที่สำคัญ คือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานไว้ที่พิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดเมื่อ พ.ศ.1927
"วัดแม่นางปลื้ม" ตั้งอยู่บริเวณคลองเมือง ตรงข้ามหัวรอ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีความเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เต็มไปด้วยเรื่องราวตำนาน และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังคงมีความงดงามด้วยโบราณสถานที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เดิมเรียกขานว่าวัดท่าโขลง เพราะเป็นจุดที่โขลงช้างผ่าน ก่อนเข้าเพนียด วัดนี้สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 1920 สมัยขุนหลวงพะงั่ว หากข้อมูลนี้ตรงกับความจริง วัดนี้มีอายุกว่า 640 ปี เป็นหนึ่งในวัดที่ตั้งค่ายของพม่าในการจุดปืนใหญ่ระดมยิงเข้าไปในกรุงศรีอยุธยา ทำให้บริเวณนี้มิได้ถูกทำลาย สถาปัตยกรรมก่อสร้างแบบไทยโบราณที่คงความสมบรูณ์มากที่สุด กรมศิลปากรได้จัดขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2538
สำหรับ วัดแม่นางปลื้ม มีตำนานที่เล่าขานต่อกันมา กล่าวกันว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือพระองค์ดำ ได้เสด็จล่องเรือไปตามแม่น้ำในช่วงเย็น แต่เกิดติดพายุฝนทำให้ไม่สามารถเสด็จกลับพระราชวังได้ พระองค์จึงเสด็จขึ้นไปท่าน้ำบ้านเก่าหลังหนึ่งซึ่งมีหญิงชราอาศัยอยู่ลำพังเพียงคนเดียว ด้วยสุรเสียงดังกว่าบุคคลทั่วไป นางจึงอ้อนวอนขอให้พระองค์ลดเสียงเบาลง เนื่องจากเกรงว่าหากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านมาจะมีปัญหาเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็นำผ้าแห้งมาให้ผลัดเปลี่ยน แถมพระองค์ยังทรงขอดื่มสุราเพื่อคลายหนาว ซึ่งหญิงชราได้ปฎิเสธไปเนื่องจากเป็นช่วงเข้าพรรษา แต่พระองค์ก็หายอมไม่ จนนางต้องกำชับมิให้บอกใคร ตลอดเวลาที่ได้สนทนากับหญิงชรา เรียกพระองค์ว่าลูกทุกคำ พร้อมน้ำเสียงที่มีจิตเมตตา พอย่ำรุ่งพระองค์ก็เสด็จกลับ หลังจากนั้นก็ให้ข้าราชบริพารไปนำหญิงชราผู้นั้นมายังพระราชวัง ต่อมาทราบชื่อว่า นางปลื้ม พระองค์จึงได้เลี้ยงดูนางเป็นอย่างดี ดุจดั่งพระมารดาของพระองค์เอง หลังจากนางสิ้นชีพก็ได้บรูณะปฎิสังขรณ์ “วัดแม่นางปลื้ม” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่แม่ปลื้มนั้นเอง
ขอบคุณข้อมูลภาพจาก : อินสตาร์แกรม @lalalalisa_m และ @dianaflipo