แหล่งข่าวจากธุรกิจเช่าซื้อไทยเผยว่า สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยได้มีการประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เบื้องต้นภายในกลางเดือนมิ.ย.66 จะเริ่มมีการทำ Focus Group ตามประกาศ และแบบรายงานข้อมูลของ ธปท. โดยจะแบ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และกลุ่มที่สองคือ captive finance ลีสซิ่งของค่ายรถยนต์ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอื่นๆ

ทั้งนี้่ในช่วง ก.ค.66 จะเป็นช่วงที่ ร่าง พ.ร.ฎ.อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดภายใน 1 ส.ค.66 พ.ร.ฎ.จะสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ หลังจากนั้นคาดจะชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นและออกประกาศให้ผู้ประกอบการเริ่มแสดงตัวตน คาดจะใช้เวลาทั้งสิ้น 90 วันตามมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคาด 1 พ.ย.66 พ.ร.ฎ.จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามในช่วงที่พ.ร.ฎ.ประกาศบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว ตามกฎหมายผู้ประกอบการยังสามารถแสดงตัวตนได้อย่างต่อเนื่อง และธุรกิจเช่าซื้อฯจะเริ่มอยู่ภายใต้กำกับการดูแลของ ธปท. แต่หลักเกณฑ์บางเรื่องอาจต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาปรับตัว

สำหรับสาเหตุที่การกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อให้มาอยู่ภายใต้กำกับ ธปท. เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจเช่าซื้อถือว่ามีบทบาทค่อนข้างมากต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และมีผลต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ปัจจุบันมียอดธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งสูงถึง 12.4% ของหนี้ครัวเรือนไทยที่ 15 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนร้องเรียนในการให้บริการการให้สินเชื่อต่างๆ สำหรับธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง ยังคงมีแนวโน้มของการร้องเรียนจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการกำกับธุรกิจเช่าซื้อเพื่อส่งเสริมและดูแลประชาชนให้ได้รับบริการทางการเงินที่เป็นธรรมและได้รับข้อมูลที่โปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ

ขณะเดียวกันเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไปโดยการยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจเซ่าซื้อและลีสซิ่งนั้นจะทำตั้งแต่ปรับวัฒนธรรมองค์กรและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการจัดกลุ่มลูกค้า การควบคุมการกำกับและตรวจสอบ และการแก้ไขปัญหา การจัดการเรื่องร้องเรียน การดูแลข้อมูลลูกค้า การปรับกระบวนการขายฯลฯ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งเชื่อมั่นในระบบ ผ่านคำแนะนำ การใช้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น การมีผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นธรรม และการให้บริการหลังการขาย

ทั้งนี้่จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่า ธุรกิจเช่าซื้อถือเป็นธุรกิจที่สำคัญ ต่อระบบการเงินโดยรวม ซึ่งหากดูพอร์ตธุรกิจเช่าซื้อในปัจจุบันที่อยู่ในระบบของเครดิตบูโร ธุรกิจเช่าซื้อในปัจจุบันที่อยู่ในระบบของเครดิตบูโร พบว่ามียอดคงค้างทั้งหมดอยู่ที่2.6 ล้านล้านบาทโดยมียอดค้างชำระทั้งหมดของลูกหนี้รายย่อย แต่ไม่เกิน 90 วันหรือ กลุ่ม SM อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท ในนี้มียอดค้างชำระจากสินเชื่อเช่าซื้อถึง 32% หรือ 1.9 แสนล้านบาท ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ ในพอร์ตสินเชื่อ 2.6 ล้านล้านบาท ที่เป็นหนี้เสียแล้ว 6.9% หรือ 1.8 แสนล้านบาท และมียอดที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างอยู่ที่ 1.8% หรือ 4.7 หมื่นล้านบาท

"หากดูไส้ในของลูกหนี้ที่ค้างชำระสินเชื่อเช่าซื้อพบว่า หลักๆมาจากลูกหนี้ในกลุ่ม Gen Y และ Gen X โดยหากดูจำนวนบัญชี พบว่า Gen Y มีลูกหนี้ค้างชำระสินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมด 6 แสนบัญชี คิดเป็นมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท โดยในนี้เป็นหนี้เสียแล้ว 343,911 บัญชี หรือ 9.8 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่ม Gen X พบว่า มีจำนวนค้างชำระทั้งสิ้น 4 แสนบัญชี มูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียแล้ว 219,921 บัญชี คิดเป็นมูลค่าหนี้เสีย 5.9 หมื่นล้านบาท"

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง กล่าวว่า ตามแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งของธปท.ในภาคธุรกิจเช่าซื้อ มองว่า เป็นสิ่งที่ดีจะได้รับบริการทางการเงินที่เป็นธรรม และได้รับข้อมูลที่โปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ น่าจะช่วยลดจำนวนเรื่องร้องเรียนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงยังช่วยรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คาดว่าแนวโน้มหนี้เสียภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง จะทยอยลดลงได้บ้าง หากภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังฟื้นตัวได้ดี และน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนปีนี้

ทั้งนี้ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง คงต้องปรับตัวและเตรียมตัวกับแนวทางกำกับดูแลของ ธปท.ซึ่งก่อนหน้านี้ทางผู้ประกอบการมีความเป็นห่วงในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในหลายๆระบบที่ต้องปฏิบัติ และความพร้อมของผู้ประกอบการรายเล็ก โดย ธปท.มีความเข้าใจผลกระทบต่อผู้ประกอบการในเรื่องนี้ ดังนั้นหลังจากนี้จะมีการเตรียมความพร้อม กับทางธปท.และผู้ประกอบการรายทั้งรายใหญ่ รายกลางและรายเล็กว่ามีปัญหา หรืออุปสรรคตรงไหนที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม อีกทั้งแม้ว่าแนวทางกำกับ และตรวจสอบดังกล่าวจะมีการบังคับใช้จริงจะยืดหยุ่นให้เริ่มปฏิบัติเป็นเฟสๆไปเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้