วันที่ 5 มิ.ย.66 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์ผ่านเพจ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า...
ผู้ป่วยหญิงอายุ 75 ปี ปกติแข็งแรงดี ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม โมเดอร์นา 2 เข็ม มีไข้ แสบคอ ไอมาก วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ตรวจ ATK ให้ผลบวก วินิจฉัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 วัน หลังกินยาครบยังไอมาก ไอแรง ไอจนปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ทะลุไปด้านหลัง กินอาหารไม่ได้ อาเจียนอาหารที่กินออกมาหมด เข้านอนในโรงพยาบาลวันที่ 5 พฤษภาคม ตรวจเลือด พบเลือดจางระดับฮีโมโกลบินต่ำ 10.2 เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ เท่ากับเลือดหายไป 3 ถุง ส่องกล้องพบลำไส้เล็กส่วนต้น (ดูรูป) ที่ต่อกับกระเพาะอาหารตีบตันจากมีอะไรข้างนอกมาบีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น ทำคอมพิวเตอร์สแกนช่องท้อง พบก้อนเลือดขนาด 3.9 x 8.3 x 8.6 เซนติเมตร บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น (ดูรูป) ทำหัตถการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดพบ เส้นเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงตับอ่อน-ลำไส้เล็กส่วนต้นล่าง (inferior pancreaticoduodenal artery) โป่งพองขนาด 0.5 เซนติเมตร (ดูรูป) และเส้นเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงตับอ่อน-ลำไส้เล็กส่วนต้นบน (superior pancreaticoduodenal artery) โป่งพองขนาด 0.2 เซนติเมตร และรั่วทั้ง 2 ตำแหน่ง ใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปถึงบริเวณเส้นเลือดที่โป่งพองแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดและฉีดสารอุดหลอดเลือดที่โป่งพองด้วยกาวและน้ำมัน
หลังทำหัตถการผู้ป่วยอาการค่อยๆดีขึ้น ต้องใช้เวลา 14 วันกว่าผู้ป่วยจะกลับมากินอาหารเหลวได้ ระหว่างที่อดอาหาร ให้สารอาหารทางเส้นเลือด และต่อสายระบายน้ำในกระเพาะอาหารลงขวดนาน 14 วัน วันที่ 3 มิถุนายนตรวจกระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้ง ไม่พบการอุดตันของลำไส้เล็กส่วนต้นอีกแล้ว (ดูรูป)
ผู้ป่วยรายนี้มีเส้นเลือดเล็กโป่งพองในช่องท้องอยู่แล้ว ระหว่างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไอแรงมากจนกระเทือนช่องท้อง เส้นเลือดเล็กที่โป่งพองในช่องท้องแตก ทำให้เลือดจางจากการเสียเลือด เลือดไหลออกในช่องท้องรวมตัวเป็นก้อนเลือด บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้นจนลำไส้เล็กส่วนต้นอุดตัน กินอาหารอาเจียนออกหมด โรคนี้พบน้อยมากๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโอกาสเสียชีวิตสูง