วันที่ 4 มิ.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

การปรับวิถีการใช้ชีวิตเป็นเรื่องที่จำเป็น

วิถีชีวิตคนเรา ทั้งการบริโภค การอุปโภค การอยู่อาศัย การพักผ่อนหย่อนใจ การพบปะติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การทำงาน และการเรียนการศึกษานั้น ล้วนเป็นพื้นฐานในกิจกรรมประจำวันที่เราทุกคนทำกันอยู่ทุกวี่วัน

หลักฐานเชิงประจักษ์จากชีวิตจริงมีมากมาย ที่พิสูจน์แล้วว่า ยามที่โรคระบาดทั่วโลกยังคงอยู่ และมีการติดเชื้อ ป่วย เสียชีวิตกันอย่างต่อเนื่องนั้น หากมนุษย์ไม่ปรับวิถีการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยกว่าเดิม ก็ย่อมรอวันตกเป็นเหยื่อของโรคระบาดนั้นไม่ช้าก็เร็ว

สัจธรรมของโรคระบาดที่เราเผชิญนี้คือ หากยังมีโรคในพื้นที่เยอะ การคลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ป้องกันตัว อยู่กันเป็นเวลานาน อยู่กันในที่ที่ระบายอากาศไม่ดี อยู่ในที่พักอาศัยเดียวกันกับผู้ป่วยโดยไม่ป้องกันตัว แชร์ของกินของใช้ร่วมกัน ก็ย่อมเสี่ยงที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้มากขึ้นตามลำดับ

วัคซีนเป็นอาวุธสำคัญทางด้านสาธารณสุขในการต่อสู้กับโรคระบาด แต่กับโควิด-19 นั้น อาวุธนี้ตามเชื้อโรคไม่ทันเนื่องจากไวรัสโควิด-19 นั้นเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปเร็วมาก การกลายพันธุ์เร็วกว่าไข้หวัดใหญ่ 2.5 เท่า และเร็วกว่าไวรัสหวัดทั่วไปที่เป็นตระกูลโคโรน่าเหมือนกันราว 10 เท่า

ทำให้วัคซีนที่มีอยู่ สามารถป้องกันเรื่องป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ระดับหนึ่ง และภูมิคุ้มกันก็ลดลงไปตามเวลาที่ผ่านไป ทั้งภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน รวมถึงที่เกิดในกรณีที่เคยติดเชื้อมาก่อนด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่องค์การอนามัยโลกย้ำเตือนมาตลอดว่า การดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตท่ามกลางโรคระบาดนี้ จึงต้องอาศัยหลายวิธีร่วมกัน ไม่ใช่วัคซีนเพียงอย่างเดียว

สิ่งสำคัญที่ควรทำคือ การขันน็อตพฤติกรรมป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

ดังที่เราเห็นตัวอย่างการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก จากการไปพบปะสังสรรค์ ประชุมในหลากหลายวิชาชีพโดยไม่ได้ป้องกันตัวอย่างดีพอ ทั้งการประชุมของผู้เชี่ยวชาญด้านเฝ้าระวังโรคระบาดของ US CDC ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีคนติดเชื้อกันไปอย่างน้อย 181 คนจาก 1,800 คนที่เข้าร่วมงาน รวมถึงการประชุมด้านการสื่อสารที่แคนาดาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่เรารับรู้ได้แทบทุกวี่วัน ที่มีเคสใหม่รายรอบตัว จากการทำงาน การเรียน การท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปรากฏการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นโมเดลการดำรงชีวิตแบบอดีต ที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ และนำมาซึ่งความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ขึ้นอยู่กับว่าจะแจ็คพอตไปที่ใคร

ไม่ป้องกันตัว ก็ย่อมเสี่ยงมาก และส่งผลกระทบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบตัว

ในขณะเดียวกัน ก็มีคนในสังคมอีกไม่น้อย ที่รู้เท่าทัน ให้คุณค่าและความสำคัญกับชีวิต รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง ด้วยการปรับวิถีการดำรงชีวิตด้านต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อ

ตัวอย่างดีๆ ที่มีให้เห็นกัน เช่น กิจกรรมการแข่งขันโป๊กเกอร์ในอเมริกา ที่มีนักเล่นเกมส์จำนวนมากมาร่วมงาน แต่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการสวมใส่หน้ากากอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจสุขภาพ และน่าชื่นชม

ล่าสุด การแข่งขันกีฬาจักรยานระดับโลกอย่าง Tour de France ที่ก็มีการปรับกฎระเบียบ เพื่อลดความเสี่ยงเช่นกัน อาทิ การไม่ให้นักปั่นและทีมงานไปรับประทานอาหารนอกโรงแรมที่พัก ไม่ให้ถ่ายรูปหรือแจกลายเซ็นต์ เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด พื้นที่ใด กิจการใด สถานที่ใด กิจกรรมใด ครอบครัวใด และคนไหนก็ตาม ล้วนสามารถจัดการได้ ขอเพียงมีความใส่ใจ และความรับผิดชอบ ก็จะทำให้ใช้ชีวิต ทำมาหากิน เรียน ท่องเที่ยว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้โดยมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต

การระบาดที่ไทยเราเผชิญขาขึ้นติดต่อกันมาเกือบสองเดือนแล้วนั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเกิดจากพฤติกรรมป้องกันตัวที่ไม่ดีพอ เห็นชัดเจนจากหน้าเทศกาลต่างๆ ที่ผ่านมา เช่น สงกรานต์ เป็นต้น รวมถึงกิจการห้างร้าน โรงแรม สถานบันเทิง ร้านอาหาร จำนวนไม่น้อยที่ย่อหย่อนมาตรการป้องกันตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่หน้ากากของพนักงานบริการ

ย้ำอีกครั้งว่า การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

สวัสดีวันสุดสัปดาห์ครับ...