หมายเหตุ : “ กัณวีร์ สืบแสง”  ส.สบัญชีรายชื่อ  หนึ่งเดียวของพรรคเป็นธรรม 1 ใน 8 พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล พรรคเป็นธรรมได้รับความสนใจอย่างโดดเด่น เนื่องจากมีแนวนโยบายในเรื่องการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชูนโยบาย “สันติภาพกินได้”

กัณวีร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงแนวคิด อันเป็นที่มาของนโยบายดับไฟใต้ เอาไว้อย่างน่าสนใจ เผยแพร่ทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

- กระแสตอบรับต่อพรรคเป็นธรรม ถือว่าค่อนข้างดี ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสาร นโยบายของพรรค

ใช่ครับ เพราะตอนนี้ที่เราจะสามารถเสนอนโยบายของพรรคที่เราได้ให้คำสัตย์ไว้กับพี่น้องประชาชนในยุทธศาสตร์พื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปัตตานีของเรา ว่าในเรื่องการสร้างสันติภาพต่างๆและรวมถึงนโยบายอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการทูตของไทย เพราะฉะนั้นตอนนี้หลังจากที่เราได้มา 1 ที่นั่ง ซึ่งขอบคุณทางพรรคก้าวไกลมอบโอกาสอันนี้ให้เรามาเข้าร่วมในการสร้างประชาธิปไตยของไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น

-ในเรื่องการทำงาน การจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ในฝ่ายบริหาร เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคเป็นธรรมเองมีความสนใจงานด้านไหนเป็นพิเศษหรือไม่ อย่างเรื่องปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกระจายอำนาจ

จริงๆก่อนที่พูดถึงการจัดสรรตำแหน่ง ผมว่าจะมีอยู่หลายสเตปพอสมควร อย่างตอนนี้ทางพรรคก้าวไกล ได้จัดตั้งคณะทำงานเป็นทางการ ที่จะไปหารือกับทางกลุ่มส.ว.ทุกท่าน ในการที่จะมีการตั้งนายกรัฐมนตรี ผมว่าจะไปถึงจุดนั้นก็จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีและก่อนหน้านั้นก็จะมีประธานรัฐสภา

เมื่อมีการเลือกประธานสภาฯ เสร็จ ก็จะมาเลือกนายกฯ จากนั้นจึงจะมีการพูดคุยกันถึงตำแหน่งต่อไป ซึ่งทางพรรคเป็นธรรม มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าเราไม่ต่อรองใดๆทั้งนั้น ที่จะเข้าร่วมกับรัฐบาลครั้งนี้ เราจะทำตามเสถียรภาพที่เรามีและเต็มความสามารถ ไม่ว่าทางพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าพรรคเป็นธรรม สามารถจะไปช่วยเหลือตรงไหนได้บ้างเราก็พร้อม ศักยภาพที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสนอกรอบที่เราสร้างสันติภาพ ในปัตตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทำในเวทีระหว่างประเทศ จุดยืนทางด้านการทูตไทย ในเวทีระหว่างประเทศ ในศตวรรษที่ 21 ตรงนี้ก็เป็น 3 จุดที่เราสามารถที่เข้าไปช่วยเหลือได้ และรวมถึงเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงด้วย เนื่องจากตัวผมเองก็เคยทำงานอยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ  (สมช.) เพราะฉะนั้นก็จะใช้ความรู้ประสบการณ์ต่างๆเข้าไปเสนอสนับสนุนทางพรรครัฐบาลในการทำงาน เรามองในเรื่องตัวประเด็นการทำงานมากกว่าตำแหน่งในการที่จะต้องนั่งอยู่กระทรวงไหน

- ก่อนหน้านี้ คุณกัณวีร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งบอกว่าการแก้ไขปัญหาสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะผิดฝาผิดตัว และอาจจะต้องพึ่งพากลไกในต่างประเทศ

ในประเด็นที่ได้พูดไป เรื่องผิดฝาผิดตัวคือกรอบกระบวนการสร้างสันติภาพ ผมมองว่าแนวทางที่รัฐบาลไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ถูกต้อง ยังไม่ใช่การสร้างกรอบสันติภาพอย่างยั่งยืน เพราะในหลายๆพื้นที่ ในเวทีระหว่างประเทศเวลามีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความไม่สงบ ความรุนแรงต่างๆ เขาจะใช้กรอบกระบวนนการสร้างสันติภาพแบบยั่งยืน

คือเราต้องมองไปไกล ตอนนี้เราเห็นว่าประเทศไทยเราพยายามดำเนินการ โดยการเจรจาสันติสุขโดยที่มีฝ่ายไทย ฝ่ายรัฐไทยกับฝ่ายคู่เจรจามานั่งคุยกัน แต่เราเห็นการที่มี คนที่มีอาวุธคือใช้คนที่ถืออาวุธ มานั่งเจรจากัน ซึ่งมันคงไม่สามารถที่จะสร้างสันติภาพแบบยั่งยืนได้ มันจะสามารถทำการยุติการปะทะได้ ทำให้การปะทะมันลดน้อยถอยลงได้ ก็คือการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

จริงๆแล้วต้องเอาคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆในพื้นที่มาบอกว่าปัญหามันคืออะไร เขาต้องการทิศทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร มาเป็นพื้นฐานการแก้ไขปัญหาแบบสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นหลายๆครั้งเราเห็นการเจรจาสันติภาพสันติสุข 10 ปีที่ผ่านมานี้ เรายังไม่ได้เห็นในรายละเอียดว่าเขาพูดคุยอะไรกันบ้างในเวทีเจรจาสันติสุข หลายๆครั้งเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นพรรคเป็นธรรมเราเองเราได้เสนอกันไปว่าจำเป็นจะต้องยกระดับกระบวนการสร้างสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติให้ได้เงิน 5แสนล้านบาทที่ลงมา 19 ปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่สามารถสร้างศักยภาพแบบยั่งยืนได้เลย เรายังเห็นว่ามีการสร้างถนนหนทางมีการสร้างตึกรามบ้านช่อง แล้วก็มีการส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงลงไปในพื้นที่อย่างมาก เพียงแต่ว่าสันติภาพมันยังไม่เกิดขึ้นมันยังเป็นการประปรายในการลดระดับการปะทะ แต่เนื้อหารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงยังไม่ถูกจุดถูกประเด็น เราก็เลยจะเสนอกรอบของเราไปที่ทำให้การสร้างสันติภาพแบบยั่งยืนและเป็นแบบสมมาตร คือเดินไปด้วยกัน จนกระทั่งเราเสนอตัวชี้วัดไป 2 ตัว คือ 1. การพาทหารกลับบ้าน 2. การทำความสะอาดท้องถนนให้ปราศจากด่านทั้งหมด 1,800 กว่าด่านไปได้ ถ้า 2 ตัวนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็แสดงว่าสันติภาพนั้นเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนแล้วในพื้นที่ปัตตานี

- ข้อเสนอบางข้อ อาจจะไปกระทบต่อส่วนราชการบางส่วนอย่างเช่นกอ.รมน และศอ.บต. กังวลหรือไม่ว่าอาจจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านตามมา

ก็คงไม่กังวล คือเราต้องสร้างความเข้าใจให้ทุกท่านทราบ ว่าทำไมเราถึงเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการยุบ กอ.รมน. และ ศอ.บต.เพราะว่าจริงๆปัญหามันมีอยู่  3 ขาด้วยกัน ขาแรก คือเรายังไม่เคยยกการแก้ไขปัญหาในการสร้างสันติภาพนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่วนใหญ่เราเห็นแล้วว่าการแก้ไข ที่ผ่านมาจะพยายามกดให้อยู่แค่ในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาโดยใช้พื้นที่ เป็นคนแก้ไขเลยส่งหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปแก้ไขอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคงไม่สามารถที่จะทำได้ต้องเอาภาคสังคม ภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเจรจาด้วย

ขาที่สอง จะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกฎหมายต่างๆที่กดทับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นมาตรา 113 มาตรา 116 มาตรา 215 ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของพี่น้องประชาชนพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกนั้นถูกปิดกั้นโดยใช้กฎหมายต่างๆเหล่านี้เข้ามาปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ จำเป็นต้องแก้ไขรวมถึงกฎหมายพิเศษต่างๆไม่ว่าจะเป็นพรบความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและรวมถึงกฎอัยการศึกด้วย

ซึ่งมีการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ในการคุมขังของประชาชนในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องออกหมายศาลสามารถคุมขังได้รวมกันทั้งหมด 37 วันซึ่ง 37 วันนี้หากใครโดนคุมขังแล้ว พอสืบสวนสอบสวนแล้วไม่มีความผิด ปล่อยเขาออกมาโดยไม่มีการเยียวยาแก้ไขใดๆเลย เพราะฉะนั้นเราเลยเห็นว่าสิทธิเสรีภาพ จำเป็นต้องเปิดให้ได้

ขาที่สาม คือที่ถามว่าถ้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบราชการแล้ว จะทำให้คนเข้าใจหรือไม่เข้าใจการยุบกอ.รมน. การยุบศอ.บต. เราจะเห็นได้ว่า โดยหลักการแล้วคนที่จะต้องนำกอ.รมน.คือพลเรือน แต่ตอนนี้การเอาทหารไปใส่กอ.รมน.ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทมากและการใช้กฎหมายพิเศษต่างๆเพื่อปรับใช้โดยทางทหารเพราะฉะนั้นกอ.รมน.จริงๆแล้วเป็นหน่วยราชการที่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ในการบริหารจัดการทางด้านเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่คือควรจะใช้คนพลเรือนในการนำ ศอ.บต.ก็คือรัฐบาลส่วนหน้า

-อยากให้อธิบายกับประชาชนบางส่วนที่ยังกังวลว่า จะกลายเป็นการขอแบ่งแยกดินแดนหรือไม่

อันนี้ชัดเจน ในเรื่องจังหวัดจัดการตัวเอง เราไม่ได้บอกว่าเป็น Performance เราบอกว่าเป็น Management เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลกับการกระจายอำนาจ ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดนด้ามขวานแห่งนี้จะยังคงเข้มแข็งและมั่นคงอยู่ แต่เราเปิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เราต้องมีพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้พูดถึงในเรื่องเขาต้องการพูด ถ้าเรายิ่งปิดกั้นระเบิดออกไปอย่างตอนนี้กฎหมายต่างๆที่ผมเรียนไปเบื้องต้น ไม่ว่ามาตราทั้งหมดรวม ทั้งกฎหมายพิเศษทำให้ประชาชนไม่สามารถพูดถึงได้ดังนั้นคำว่าแบ่งแยกดินแดนเลยเป็นวาทกรรมที่พยายามมาตอกย้ำในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายใหม่ๆที่ไม่ยอมอิงอยู่กับนโยบายเดิมๆกรอบความคิดเดิมๆ

เรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์นิยมใช้ความมั่นคงเป็นหลักเราพูดเรื่องการจัดการตนเองก็เลยโดนตีว่าเป็นการหมิ่นเหม่กับความมั่นคงการแก้ไขปัญหาในประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้ เราไม่สามารถนำเอาความมั่นคงมาแก้ปัญหาได้  ความมั่นคงไม่สามารถที่จะนำเรื่องสันติภาพได้ เพราะฉะนั้นจะต้องให้ภาคประชาสังคม มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชนมานำเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพ

-การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพากลไกของต่างประเทศหรือว่าองค์กรไหนจากต่างประเทศหรือไม่

อยากเรียนว่าสิ่งที่พูดไป อยากบอกว่าอย่ากังวล อย่าเกรงกลัวซึ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องสันติภาพเราจำเป็นต้องยกระดับให้เป็นสากล คือประเทศไทยกลัวอย่างหนึ่งครับ ประเทศไทยกลัวว่าสิ่งต่างๆที่เป็นสากลแล้วจะทำให้คนนั้น คนนี้สามารถเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ แต่กระบวนการสันติภาพจริงๆแล้วโดยตัวของมันเองคือกระบวนการสากล  ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้หน่วยงานต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีการพูดคุย ต้องมีการสื่อสารให้กับต่างประเทศในการรับทราบให้ได้ ว่าเวทีคืออะไร

ในเวทีระหว่างประเทศคือการรักษาสันติภาพนั้นเขาใช้มนุษยธรรมนำการสร้างสันติภาพ ตอนที่ผมไปอยู่ที่ซูดานเหนือ และซูดานใต้ ผมทำงานทางด้านมนุษยธรรม เราจะต้องเป็นคนไปเปิดหัว เข้าไปคุย เข้าไปสร้างสันติภาพให้ก่อน ทางทหารเป็นหน่วยซัพพอร์ตเท่านั้นเอง ทหารไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่และสร้างสันติภาพได้ เพราะฉะนั้นเราเลยมีหน่วยที่เขาเรียกว่าหน่วย Protection of Sea Valiant ต้องให้ความคุ้มครองกับพลเรือนเสียก่อน

หน่วยงานมนุษยธรรมต้องเข้าไปทำงาน ต้องเข้าไปคุยกับประชาชน ต้องเข้าไปคุยกับความเห็นที่เขาคิดว่ามีความเห็นแตกต่าง เราต้องไปเข้าไปคุยก่อน ไม่อย่างนั้นทำงานไม่ได้ ถ้าจะเอาทหารเข้าไปคุย ผมว่าจะมีกำแพงกั้น เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างกระบวนการใหม่ๆนำหลักสากลมาใช้ แต่ไม่ใช่ให้ต่างชาติเข้ามา เราเองเป็นคนไทย รัฐบาลไทย จำเป็นต้องนำหลักการสากลมาปรับใช้ให้ได้ในประเทศนี้ คือการที่เราจะคุยกับต่างชาติเรื่องหนึ่งนี่คือเราคุยสื่อสารให้กับต่างชาติทราบว่าเราใช้กระบวนการเป็นกรอบสากลแล้ว แต่ไม่ใช่ให้สากลมาแก้ปัญหาในพื้นที่

-นี่ คือคีย์เวิร์ดที่จะต้องสื่อสารให้เข้าใจตรงนี้ เพื่อให้เกิดความสบายใจในหลายๆภาคส่วน คิดว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ความหวังเข้ามาหรือยัง

ผมว่าต้องสร้างความเข้าใจทุกคนให้เหมือนกันก่อน คือกระบวนการสร้างสันติภาพอาจจะใหม่กับประเทศไทย จริงๆกระบวนการสร้างสันติภาพที่เป็นตามกรอบหลักสากลยังใหม่มากๆ ประเทศไทยยังยึดติดอยู่กับการสร้างสันติภาพโดยใช้กลไกในพื้นที่เท่านั้น เพราะฉะนั้นการสร้างกลไกสากลและมาปรับใช้ในพื้นที่ประเทศไทย สร้างความเข้าใจให้ได้ก่อน ผมว่าตอนนี้ทุกคนเริ่มเปิดประตูยอมรับว่าหลักการสากลจำเป็นต้องนำมาปรับใช้ หลังจากนั้นเราจะทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ทำความเข้าใจกับส่วนราชการในพื้นที่ แต่อันดับแรกรัฐสภาต้องเข้าใจก่อน ถึงจะสามารถทำงานต่อไปได้ ผมว่ากรอบระยะเวลาที่เราสามารถเป็นรัฐบาล 4 ปี เราทำได้แน่นอน