บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ควันหลงการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566
สถานการณ์การเมืองไทยน่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี ขอให้เป็นทางดีทั้งนั้นเป็นใช้ได้ อันเป็นผลมาจากกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับ คสช.ที่มีอำนาจ ส.ว.250 คน และเมื่อมีการใช้กติกาใหม่ “การเลือกตั้งบัตรสองใบ” แม้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะเป็นที่ทราบจำนวนเสียงส่วนใหญ่ตามครรลองประชาธิปไตยว่า ขั้วอำนาจการเมืองฝ่ายใด พรรคใดจะเป็นผู้ประสานฟอร์มรัฐบาลก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ในหลายๆ ประการที่ผ่านมา และที่กำลังเป็นประเด็นถกวิพากษ์กัน ยิ่งบานปลายออกไปด้วยทิฐิของสองขั้ว(ฝ่าย) ที่อาจมีบางขั้วยังเหนียวแน่นตกขอบสุดโต่ง ไม่ยอมรับการประนีประนอม ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ความวุ่นวายในสังคมได้ เพราะฉันทามติจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายขั้วประชาธิปไตย หรือฝ่ายเสรีนิยม (Liberal) ได้รับคะแนนนิยม (popular vote) มากถึงกว่า 26 ล้านเสียง จากผู้มาลงคะแนนทั้งสิ้น 39,293,867 คน ซึ่งเกินกว่าครึ่งคิดเป็นร้อยละ 66 ของผู้มาใช้สิทธิ โดยไม่ได้คิดร้อยละจากยอดประชากรบุคคลสัญชาติไทยทั้งหมด 65,106,481 คน หรือ คิดจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,238,594 คน ซึ่งมียอดผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 75.22 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เพราะบางคนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และบางคนไม่ได้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือมาใช้สิทธิแต่ไม่ลงคะแนน หรือเป็นบัตรเสีย ในภาพรวมพบว่า มีการฉีกบัตร 24 ราย จำหน่ายสุราบริเวณเขตเลือกตั้ง 7 ราย และถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่มีการลงคะแนนแล้ว 4 ราย และคำร้องจนถึงเวลา 9.00 น. ขณะนี้ มี 168 เรื่องประกอบไปด้วย การซื้อเสียง 59 เรื่อง การหลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ 18 เรื่อง และอื่นๆ
แม้จะมีข่าวที่กล่าวหาถึงข้อผิดพลาดบกพร่องต่างๆ ในการเลือกตั้งในครั้งนี้บ้าง ก็คงถือเป็นบทเรียนเพื่อการแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป ไม่ว่า กรณีการเลือกตั้งล่วงหน้า (สำหรับคนในและนอกเขตเลือกตั้ง) และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่มีจำนวนมากถึง 2.3 ล้านคน หรือ การรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ หรือ การป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง (Vote Buying) หรือ ข่าวการทำลายป้ายหาเสียง เป็นต้น ตามกติกาเบื้องต้นของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตามกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง ที่ถอยไปใช้แบบปี 2543 ตามกติกาบัตรเลือกตั้งสองใบ ที่ต่างจากการเลือกตั้งบัตรใบเดียวคราวที่แล้ว (ปี 2562) ที่กาเลือกคนเลือกพรรคไปพร้อมกัน กล่าวคือ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ พรรคการเมืองไทย ทั้งหมด 67 พรรค ส่งเสริมพรรคใหญ่โต ส่วนพรรคเล็กตาย รวมทั้ง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรมแก่คนรุ่นใหม่ เพราะ สัดส่วนคะแนน บัญชีรายชื่อ มีจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คนจากเดิม 150 คน คิดจากสัดส่วนจำนวน ส.ส.พึงมี จำนวนคะแนนที่คาดไว้ในครั้งนี้ คือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนต่อคะแนนเสียงประมาณ 3.5 แสน
มีข้อสังเกตเกี่ยวกับขั้วฝ่ายการเมืองที่หาเสียงในพื้นที่ เช่น (1) บางเขตเป็นฐานอำนาจของพรรคฝ่ายรัฐบาลแต่มีผู้สมัครขั้วฝ่ายรัฐบาลต่างแย่งชิงคะแนนกันเอง (2) กระแสคะแนนนิยมในพื้นที่ฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายก้าวหน้าพบว่าก่อนวันเลือกตั้งมีเสียงดีขึ้น ด้วยฐานเสียงเดิมในพื้นที่หนุน เช่นจากกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เป็นตัวแปรในพื้นที่ เช่นในจังหวัดบุรีรัมย์ (3) ผู้สมัคร ส.ส.บางคนในพื้นที่แม้จะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีบ้าง แต่หากยังคงมีมาตรฐานในการดูแลช่วยเหลือประชาชน มีใจรักอำนาจตำแหน่งทางสังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอก็พอจะยังคงรักษาฐานเสียงไว้ได้ (4) ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีลมและฝนในบางพื้นที่ ทำให้ป้ายหาเสียงต่างๆ เสียหายล้มมาก
การเมืองที่เอาชนะกันด้วยไหวพริบ ชิงดีชิงเด่น
การเลือกตั้งคือการต่อสู้ของสองฝ่าย คือ กระแสพรรคฝ่ายประชาธิปไตย (Liberal) โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า (Progressive) ที่มาแรง เอาชนะฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายอำนาจรัฐ (ฝ่ายรัฐบาล) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์ (Conservative) และเรียกตัวเองว่าเป็น “Neoconservative” (พวกฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่ หรือพวกนวอนุรักษนิยม) ซึ่งสมัยก่อนเป็นการต่อสู้ของ “พรรคฝ่ายเทพ กับพรรคฝ่ายมาร” เพื่อเอาชนะกันด้วยไหวพริบ ชิงดีชิงเด่น ต่างๆ นานา ทั้งในแบบ นอกแบบ และเล่ห์เหลี่ยม ค้านหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย หลักสากล และค้านสายตากองเชียร์ แต่อาจสะใจกองแช่งก็ได้ เพราะการเมืองเป็นการต่อสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ในทุกวิถีทาง โดยเฉพาะในฝ่าย “อธรรม”
ประเด็นคือ เป็นพัฒนาการเมืองโดยการนำเสนอนโยบายพัฒนาบ้านเมือง เพื่อการทำประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ เสนอแก้ไขปัญหาปากท้อง หรือ ความเหลื่อมล้ำ แก้แล้วจะดีขึ้น หรือลดปัญหาความวุ่นวายได้อย่างไร ด้วยการนำเสนอนโยบายที่โดนๆ ตรงใจชาวบ้าน ซึ่งต้องแยกแยะระหว่าง “นโยบายประชานิยม กับการสงเคราะห์เกื้อกูล” ที่ต่างกันด้วย เช่น
(1) พรรคการเมืองขยันดีเบต เสนอนโยบายที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก พรรคดังกล่าวพูดถึงส่วนตนเองน้อย คือเอาตนเองและพรรคไว้ทีหลัง ที่ตรงข้ามพรรคเก่าๆ ที่เต็มด้วยอัตตาเอาตนเองเป็นที่ตั้ง (2) นโยบายจะเข้าไปตรวจสอบแก้ไขปรับปรุงกระบวนงานของหน่วยบริการสาธารณะที่ชัดเจน เช่น การพลังงาน (3) ความสำเร็จของพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลผ่านมา มักได้คะแนนเสียงจากกระแสโซเชียล ที่ได้กดดันฝ่ายรัฐบาลให้เลือกดำเนินการ แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ ด้วยระยะเวลาการบริหารงานที่ยาวนานมาถึงกว่า 8 ปี (4) พบว่ามีการใช้หัวคะแนนจัดตั้ง และหัวคะแนนที่เป็นคนของรัฐเช่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้มี “หัวคะแนนธรรมชาติ” มากขึ้น โดยเฉพาะการโน้มน้าวจูงใจพ่อแม่ญาติพี่น้องจากบรรดาลูกหลานกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือจากเครือข่ายและเส้นสายคอนเนกชั่นในทุกๆ ด้าน (5) กระแส “นกแล” หรือผู้สมัคร ส.ส.เขตหน้าใหม่ที่ไม่มีชื่อเสียง หรือมีบารมีอิทธิพลน้อย ได้รับการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่หักปากกาเซียนทุกสำนักโพล ที่ฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งแบบฟ้าถล่ม (Sky Fall) (6) พรรคการเมืองมีการใช้เทคนิคข้อมูลคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีมาช่วย ทั้งในแชต ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ตามมาตรา 70 “การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดนับตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุด วันเลือกตั้ง” ซึ่งย่อมได้เปรียบทางการเมืองกว่า เช่น พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าใช้สื่อออนไลน์เพื่อการเข้าถึงแก่กลุ่มผู้เลือกตั้ง (Voters) มากที่สุด เพราะปัจจุบันโลกโซเชียลได้ disrupt เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โซเชียลทำให้คนต่างประเทศกับคนในประเทศต่างก็รู้ความเคลื่อนไหวโลกต่างๆ พอกันเท่ากัน (7) “การเมืองแบบบ้านใหญ่” (dynasty politics) หรือพวกตระกูลการเมือง จากรุ่นสู่รุ่นในวงศ์ตระกูลผู้นำทางการเมือง ที่สืบทอด ผูกขาดจากรุ่นสู่รุ่น (สถาบันพระปกเกล้าแจงไว้ใน 12 จังหวัด) หายไปเยอะ แต่นักวิชาการเตือนว่า การใช้คำว่า “การเมืองแบบบ้านใหญ่” ในความหมายตามนิยามที่แท้จริงนั้นมีหลายปัจจัย ที่ไทยนำมาใช้อาจไม่ตรงตามนิยามความหมายที่แท้จริง จึงขอให้ระมัดระวังในการใช้ศัพท์คำนี้ด้วย (8) เป็นสร้างปรากฏการณ์ใหม่ “วัฒนธรรมประชาชนร่วมจับตานับคะแนน” โดย เครือข่ายอาสาจับตาการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อให้การนับคะแนนถูกต้องโปร่งใส และเรียกร้อง กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง (รับรองผล) ก่อน 60 วันเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้เร็วขึ้น มีการพบปัญหาหน้าหน่วยเลือกตั้งรวมถึง 357 กรณี เช่น ทักท้วงนับคะแนนเลือกตั้งชลบุรี (เขต 1 แสนสุข) ไม่เจาะรูบัตรที่นับคะแนนแล้ว (9) มีข่าวบัตรเขย่งประชาชนขวางย้ายหีบเลือกตั้ง ปมพบบัตรเขย่งหลายพันใบที่จ.ชลบุรี แต่ ผอ.กต.จังหวัด ชี้แจงว่า เป็นการพิมพ์ผิดที่คลาดเคลื่อนไป (10) ข่าวชี้โพรงให้กระรอกของอดีต กกต.ท่านหนึ่งว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองที่อาจถูกยุบพรรคได้ถึง 4 พรรค (11) บรรดาขั้วการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายขวา และสลิ่ม รวมนักวิชาการหลายราย ต่างออกมาด่า มาด้อยค่านโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะ นโยบายแจกเงินดิจิทัลของ พรรคเพื่อไทย (พท.) ทั้งๆ ที่พรรคฝ่ายอนุรักษ์ ก็มีนโยบายประชานิยมด้วยเช่นกัน ปัญหาคือ ใครจะมาตัดสินว่า นโยบายประชานิยมนั้นมันผิด มันทำไม่ได้ มันหลอกลวง เพราะ กกต. ไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ และมีผู้มองว่า สถานะ กกต. “เป็นกลางเพียงใด”
ประเด็นการทำโพลการเลือกตั้ง
มีข้อวิพากษ์บ้างสักเล็กน้อย เนื่องจากมีการหักปากกาเซียนโพลตามที่กล่าวข้างต้น กฎหมายให้ทำโพลการเลือกตั้งได้เหมือนการหาเสียง แต่ห้ามฝ่าฝืนกฎหมาย การทำโพลโดยการจูงใจให้เข้าใจผิดในความนิยม หลัง 30 วันผู้เสียหายฟ้องได้ สำนักโพลก็ทำได้ แต่อย่าทำผิดกฎหมาย ทำโพลไม่เปิดเผยก็ได้ แต่หากจะเปิดเผยผลโพลผู้ทำโพลต้องมั่นใจ ห้ามใส่ความกัน โพลภายในไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ไปบอกใคร
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 72 “การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นำ หรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจะกระทำมิได้” มาตรา 73(5) “ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ (5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง”
การเมืองใต้อำนาจของคนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z
พบว่าคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึง พลังเสียงของคน Gen Z อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 12.78 และ Gen Y อายุ 26-41 ปี ร้อยละ 28.87 ที่มีสัดส่วนในประชากรมากรวมกันถึงร้อยละ 41.67 แต่คน Gen Z ที่มีสิทธิเลือกตั้งจริงๆ มีเพียงจำนวนประมาณ 6.6 ล้าน เพราะที่เหลือยังเป็นเด็ก ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
เรื่องนี้มีนัยว่าอะไรที่มีผลมีอิทธิพลต่อกระแสความนึกคิดของคุณรุ่น Gen Z และ Gen Y มากที่สุด ลองมาดูเกร็ดข่าวดราม่าหนังสือแบบเรียนเด็กชั้นประถมศึกษา หนังสือหัดอ่านเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่รัฐได้มีการปรับปรุงตำราเรียน ไม่ให้ล้าสมัย แน่นอนว่าตำราเรียนหัดอ่านสำหรับเด็กประถมนี้ย่อมมีอิทธิพล มีวิวัฒนาการมาหลายยุค ลองย้อนหลังดู คือ (1) “เด็กชายใหม่รักหมู่เป็นเด็กดี” ยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 ตำราปี 2521-2537 (2) “มานีมานะปิติชูใจ” ยุคหลัง พฤษภาทมิฬ 2535 ตำราปี 2538-2554 และ (3) “ภาษาพาที” ในยุคสุดท้ายล่าสุดยุคหลังวิกฤตสีเสื้อ ตำราปี 2555-ปัจจุบัน ที่สะท้อนให้เห็นว่า ตำราการศึกษาเพื่อการปลูกฝังเด็กไทยมีวาทกรรมปรัชญาการเมืองแอบแฝงไว้ด้วยตามยุคสมัยนั้นๆ วาทกรรมไข่ต้มครึ่งซีกกับน้ำปลาจึงมีจุดให้นำมาวิพากษ์กันสนุก เพราะโลกปัจจุบัน มันหมดสมัยการโฆษณาชวนเชื่อเหมือนในยุคสงครามเย็นไปแล้ว
ปัญหาการฟอร์มรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด
โดยพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด กว่า 300 เสียง จาก 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร แต่มีปัญหาในการรวบรวบคะแนนเสียงข้างมากที่ตามกรอบรัฐธรรมนูญวางไว้ผิดหลักประชาธิปไตยสากล คือ กติกากำหนดให้วุฒิสมาชิก (ส.ว.) 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย จึงทำให้คะแนนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ต้องได้คะแนนเสียงในรัฐสภา 376 เสียง จาก 750 เสียง แต่นี่ “เป็นวาระแห่งชาติ” (National Agenda) ไม่ใช่ประโยชน์ของคนใดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากรวมเสียง ส.ส.ได้ถึงจริง 376 เสียง ก็จะเป็นการทำการ “หลักดุลยภาพของพรรคฝ่ายค้าน” เป็นเสียงข้างมากที่เกินล้น ทำให้ระบบตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลขาดประสิทธิภาพได้ ที่นำมาซึ่งการถกเถียงและเสนอแนะกันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามเกมยื้อที่ ส.ว.จะไม่ลงคะแนนให้ผ่านก็เป็นไปได้ แม้ว่า อำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.250 คนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เพราะหมดวาระ 5 ปีก็ตาม ประเด็นการยื้อประวิงเวลาที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากลนี้ จึงไม่มีเหตุผลรองรับ
นอกจากนี้ข่าว กรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พรก.อุ้มหายที่ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปไม่มีผล เป็นที่กังขาว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบในกรณีนี้อย่างไร เช่น การลาออก หรือการยุบสภา กรณีนี้ยุบสภาไม่ได้ เพราะยังไม่มีสภา ปลัดกระทรวงจะขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีในการบริหารประเทศได้อย่างไร เพราะมิใช่กรณีการเสนองบประมาณผิดและศาลพิพากษาให้ ครม. ทั้งหมดสิ้นสุดลง ตามมาตรา 142 แห่งรัฐธรรมนูญ
น่าเป็นบทพิสดารของการเมืองไทย คอยติดตาม