สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
“พระสุพรรณหลังผาล ” นับเป็นพระกรุเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมพิมพ์หนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ฟังชื่อแล้วอาจจะคิดว่าเป็นพระพิมพ์เดียวกับ “พระผงสุพรรณ” พระเนื้อดินอันดับหนึ่งของจังหวัดและหนึ่งในพระพิมพ์ยอดนิยมของประเทศไทย ความจริงแล้วไม่ใช่แม่พิมพ์เดียวกันแต่เป็นกรุเดียวกันคือ กรุพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี มีการค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2456 เดิมทีเดียวชาวสุพรรณบุรีมักเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “พระพิจิตรหลังผาล” สืบเนื่องจากลักษณะแม่พิมพ์ไปคล้ายคลึงกับพระจังหวัดพิจิตร จากนั้นเติมคำว่า “หลังผาล” เข้าไป เพราะลักษณะแม่พิมพ์ด้านหลังจะเหมือนกับ “ผาลไถนา” ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเรียกเป็น “พระสุพรรณหลังผาล” ตามถิ่นกำเนิดคือ จ.สุพรรณบุรี
ลักษณะขององค์พระเป็นพระเนื้อชินเงิน ตามที่ปรากฏหลักฐานจารึกไว้ที่ลานทองระบุว่า เนื้อหามวลสารทำจาก “แร่สังฆวานร” ซึ่งเป็นส่วนผสมของแร่หลากหลายชนิด ดังนั้น เมื่อองค์พระผ่านกาลเวลายาวนาน เนื้อขององค์พระจึงเกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างกันตามความแก่อ่อนของแร่แต่ละชนิดที่นำมาผสมเป็นมวลสาร ลักษณะพื้นผิวขององค์พระจึงมีทั้งระเบิดผุ สนิมดำ เนื้อขาวและคล้ายเม็ดทราย มีสนิมแต่ไม่ค่อยดำ เป็นต้น แต่เมื่อองค์พระผ่านการใช้หรือถูกสัมผัสนานๆ เข้า ผิวจะเกิดเป็นสีขาวผ่องใสคล้ายเงินยวง อันเป็นพุทธเอกลักษณ์ประการหนึ่ง
พระสุพรรณหลังผาล มีพุทธศิลปะแบบศิลปะสมัยอู่ทอง 3 หรืออู่ทองตอนปลาย สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวปี พ.ศ.1886 นับอายุถึงปัจจุบันก็คงประมาณ 662 ปี ลักษณะพิมพ์ทรงเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงสูง มีความกว้างที่ฐานประมาณ 3.5 ซม. และความสูงประมาณ 5 ซม. ลักษณะคล้ายพระมเหศวร คือมี 2 หน้า แต่ผิดกันตรงที่ด้านหน้าของพระสุพรรณหลังผาลกับด้านหลังจะไม่เหมือนกัน กล่าวคือพิมพ์ด้านหลังจะมีรูปผาลและประดิษฐานพระองค์เล็กๆ อยู่ตรงกลาง
ศิลปะแม่พิมพ์ด้านหน้ามีเพียงพิมพ์เดียว คือองค์พระประธานประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย เหนือฐานหน้ากระดานแอ่น ซึ่งบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปอู่ทองอย่างชัดเจน ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วมี “เม็ดโพธิ์กลมมีก้าน” เรียงรายอยู่โดยรอบ พระพักตร์ เป็นแบบพุทธศิลปะอู่ทอง 3 พระขนงโค้ง พระเนตรเป็นเม็ด พระโอษฐ์ แลดูเป็นธรรมชาติคล้ายกับปากมนุษย์ พระหนุเล็ก พระเกศสั้นแต่แหลม พระกรรณสั้น ไม่จดพระอังสา พระพาหากลมมนสมส่วน พระเพลากว้างและได้สัดส่วนสวยงาม ส่วนศิลปะแม่พิมพ์ด้านหลัง มีทั้งหมด 6 พิมพ์ ดังนี้
1. พิมพ์หลังผาล จะมีรูปพระขนาดเล็กปางมารวิชัย อยู่ในเส้นกรอบทรงสามเหลี่ยมลักษณะคล้ายผาลไถนา ด้านล่างของผาลจะมีเดือยยาวประมาณ 1 ซม. ผาลนี้ไม่มีตำแหน่งกำหนดตายตัว จะปรากฏส่วนไหนของพิมพ์หลังก็ได้
2. พิมพ์หลังผาลยันต์ ลักษณะเหมือนพิมพ์หลังผาล แต่เพิ่ม “ยันต์” เข้าไป และมีขนาดย่อมกว่าทุกพิมพ์
3. พิมพ์หลังไม่มีผาล
4. พิมพ์หลังลายผ้า คือจะมีรอยผ้าประทับ
5. พิมพ์หลังเรียบ แผ่นหลังจะไม่มีรอยอะไรเลย บางองค์เรียบเนียน บางองค์มีขรุขระเล็กน้อย
6. พิมพ์หลังแบบซุ้มระฆัง องค์พระประธานจะประทับนั่งภายในซุ้มเรือนแก้วที่มีลักษณะคล้าย ”ระฆัง”
พิมพ์ที่ได้รับนิยมสะสมกันอย่างกว้างขวางและเล่นหากันมากในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องก็คือ “พระสุพรรณ พิมพ์หลังผาล” เราจึงจดจำและเรียกกันในชื่อของ “พระสุพรรณหลังผาล” เท่านั้น
นอกจากพุทธลักษณะที่สง่าและงดงามตามแบบพุทธศิลปะอู่ทองแล้ว พระสุพรรณหลังผาลยังมีพุทธคุณเป็นเลิศอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องอยู่ยงคงกระพัน กล่าวกันว่าฟันไม่เข้าแทงไม่เข้าปรากฏเป็นที่ประจักษ์อย่างเด่นชัดมานักต่อนัก ปัจจุบันนับว่าเป็นพระที่หายากเป็นอย่างยิ่งครับผม