ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ-การเมืองไทยไม่นิ่ง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงโดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.61% หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า การพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้โดยสภาคองเกรสอาจไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เนื่องจากผู้แทนฯ จากพรรครีพับลิกันสายอนุรักษ์นิยมบางส่วนอาจโหวตไม่เห็นชอบกับร่างข้อตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ออกมาสูงกว่าคาดไปมากถึง 4 แสนตำแหน่ง ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกังวลว่า หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว เฟดก็มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.07% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP -2.9%, Shell -2.7%) ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุด ออกมาแย่กว่าคาด ได้กดดันให้ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมต่างปรับตัวลดลง (Kering -2.9%, Hermes -2.6%)

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่บรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง กอปรกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา (ปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 3.80%) ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.64% ซึ่งเป็นโซนแนวรับในช่วงที่ผ่านมา โดยเราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideway ในช่วง 3.50%-3.80% ก่อนที่จะเคลื่อนไหวเป็นแนวโน้มขาลงที่ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ตามภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะชะลอลงมากขึ้น และเฟดอาจไม่ได้เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงบ้าง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงทรงตัวแถวระดับ 104.2 จุด สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยสภาคองเกรส และรอจับตารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงต่อเนื่อง ในขณะที่เงินดอลลาร์ยังคงทรงตัว ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นทดสอบระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,983 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม และไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ การพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยสภาคองเกรส ซึ่งทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ควรมีมติผ่านร่างข้อตกลงดังกล่าว ให้ทันภายในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

ทางด้านฝั่งยุโรป ปัจจัยสำคัญ คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า ECB อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซน เดือนพฤษภาคม ยังคงทรงตัวที่ระดับ 7.00% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจอยู่ที่ระดับ 5.6%) โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ต่อเนื่องจนแตะระดับ 3.75% ได้ในปีนี้ (ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.25%)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ในขณะที่เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway down หรืออ่อนค่าลงเล็กน้อย เรายังคงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทแผ่วลงมากขึ้น ทำให้การอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินบาทอาจต้องเห็น 1) การแข็งค่าขึ้นชัดเจนของเงินดอลลาร์ ซึ่งก็อาจเกิดพร้อมกับการปรับฐานแรงของราคาทองคำ 2) การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินหยวนจีน และ 3) แรงขายหุ้นและบอนด์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสที่จะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อชัดเจน เช่น ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY กลับไปทดสอบโซน 106 จุด อาจมีไม่มาก หลังการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ก็ได้รับรู้มุมมองการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดไปมากแล้ว แต่หากตลาดปิดรับความเสี่ยงรุนแรง ก็อาจเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งแรงกดดันเงินบาทจากเงินดอลลาร์ ก็จะถูกลดทอนด้วยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในภาวะดังกล่าว ทำให้เรามองว่า แรงกดดันเงินบาทในช่วงนี้จะอยู่ที่ ทิศทางเงินหยวนของจีน และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเงินหยวนของจีนมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้บ้าง ตามภาพเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวได้แย่กว่าคาด ขณะที่ในส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ แม้เรายังคงเห็นแรงขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ทว่า หากความกังวลต่อการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้ลดลงและทำให้บรรยากาศในตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติก็อาจเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยได้บ้าง (แต่จะไม่มาก จนกว่าเห็นความชัดเจนของปัจจัยการเมืองไทย) ส่วนฟันด์โฟลว์ในตลาดบอนด์ก็เริ่มมีทิศทางไหลเข้า หลังจากไหลออกอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น เราจึงมองว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจยังคงอยู่ในช่วง 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.80 บาท/ดอลลาร์