วันที่ 31 พ.ค.2566 เมื่อเวลา 11.35 น.ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงคุณสมบัติของประธานสภาผู้แทนราษฎร คนใหม่ ว่า ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมสภาฯ เพราะตามปกติพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก จะได้เป็นประธานสภาฯ ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่แล้ว ซึ่งตนได้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลเต็มใจ และไม่หักโควต้ารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเหตุผลที่ตนรับทำหน้าที่เพราะเห็นว่าก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่มีสภาฯมา 5 ปี จึงรับหน้าที่เป็นประธานสภาฯ แม้หลังเลือกตั้งใหม่ มีการประเมินว่าสภาฯอยู่ได้เพียง 1-2 ปี แต่ด้วยความร่วมมือจากสมาชิก ทำให้สามารถอยู่จนครบ 4 ปี และทำหน้าที่ได้สมบูรณ์
นายชวน กล่าวต่อว่า สำหรับตำแหน่งประธานสภาฯ โดยทั่วไปถ้าเราย้อนกลับไปพรรคที่เป็นรัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก ก็จะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อรายละเอียดพรรคที่มีเสียงใกล้เคียงกับรัฐบาลจะได้เป็นฝ่ายค้าน เช่น กรณีพรรคความหวังใหม่ ได้ 125 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 123 เสียง ห่าวกัน 2 เสียง แต่ทั้ง 2 พรรคไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน ดังนั้นพรรคความหวังใหม่ก็ตั้งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีเอง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน จึงไม่มีประเด็นการต่อรองตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ในกรณีที่มีการถกเถียงคะแนนของพรรคที่มาร่วมรัฐบาล มีความใกล้เคียงกัน คือ 151 กับ 141 จึงเป็นประเด็นใหม่ ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยเสนอขอเป็นประธานสภาฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคะแนนไม่ห่างกันมาก
เมื่อถามว่าจะใช้ตำแหน่งประธานสภาฯทำประโยชน์ให้พรรคการเมืองตัวเองได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด ขอให้ไปศึกษารัฐธรรมนูญและข้อบังคับสภาดูว่าประธานสภาฯมีหน้าอะไรบ้าง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ประธานสภาฯ สามารถเปลี่ยนชื่อนายกรัฐมนตรีได้ แต่ปัจจุบันเขาลงมติกันในสภาฯ เมื่อสภาฯเลือกใคร ประธานสภาฯ จะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ และมีหน้าที่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเท่านั้น เพราะโดยทั่วไปตามข้อกำหนด
"ประธานสภาฯต้องเป็นกลาง สมมติเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ก็ต้องลาออก เพราะเขาต้องการประธานฯที่มีความเป็นกลาง และต้องเข้าใจกฎหมายจะไปทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่จะถ่วงเวลาก็ไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องมีกำหนดเวลาไว้อยู่แล้ว และในทางปฏิบัติเขาจะร่วมมือกัน และต้องมองความเป็นจริงว่าใครมาเป็นประธานสภาฯก็ตามต้องพยายามรักษาความเป็นกลางไว้ ส่วน เรื่องคุณสมบัติและความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายที่จะเสนอ แต่ไม่มีข้อวิจารณ์เรื่องความเหมาะสม" อดีตประธานสภา กล่าว
นายชวน กล่าวต่อว่า กรณีที่พรรคก้าวไกล พยายามเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ขอถือโอกาสเรียนข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลที่ออกมาพูดกันอาจจะคลาดเคลื่อน เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะในสภาฯยุคที่ตนเป็นประธาน การทำหน้าที่ของประธานและรองประธานสภาฯ มีการแบ่งหน้าที่กัน โดยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง รับผิดชอบ ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอเข้ามายังสภาทุกฉบับ จะเห็นชอบไม่ชอบอย่างไรก็จบ โดยไม่ได้ผ่านประธานสภาฯ ขณะที่ นายศุภชัย โพธ์สุ รองประธานสภาฯคนที่ 2 จะดูเรื่องญัตติและกระทู้ถาม นี่คือกระบวนการกระจายอำนาจ
"ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอยกเลิกมาตรา 112 จะมีนายสุชาติ เป็นผู้ดูแล และจากการปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาฯพบว่าขัดรัฐธรรมนูญ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ซึ่งนายสุชาติ รอบคอบมาก และนอกเหนือจากฝ่ายกฏหมายแสดงความคิดเห็นแล้ว ท่านยังให้ผ่านกระบวนการประสานงานที่ประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายทุกฝ่ายของสภาอีกครั้ง ซึ่งทุกคนยังมีความเห็นสอดคล้องกันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้นายสุชาติไม่ได้บรรจุ และส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อแก้ไข นี่คือที่มา จึงยืนยันได้ว่าไม่มีการกลั่นแกล้ง เพราะมาไม่ถึงผม แต่จากที่พิจารณามองว่า ท่านสุชาติ ใช้ดุลยพินิจถูกแล้ว จึงขอให้เข้าใจเรื่องนี้ว่า ที่มาวิจารณ์หรือตำหนิอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริง" นายชวน กล่าว