วันที่ 31 พ.ค.2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.กำลังปรับโครงสร้างการทำงานและการจ้างงานทั้งหมด โดยเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสอบบรรจุข้าราชการตามคุณสมบัติที่กำหนด รวมถึง ทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสในการสอบรับตรง จุดประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางให้ทัดเทียมกัน ปัจจุบัน กทม.มีประมาณ 1,000 ตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ ที่ผ่านมามีผู้เข้าสอบประมาณ 200-300 คน นอกจากนี้ ในปี 2567 กทม.มีแผนผลักดันนักเรียนมัธยมปลายที่เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สามารถสอบรับตรงเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการของกทม.ได้ เนื่องจากมีตำแหน่งเฉพาะที่ยังขาดอยู่จำนวนมาก เช่น ฝ่ายโยธา และสาธารณสุข

 

ทั้งนี้ ยังมีการทำโครงการออกแบบงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ เช่น สร้างงานลักษณะโครงการย่อยให้แต่ละคน แต่ละกลุ่ม สามารถทำงานได้ทุกที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างกำหนดระเบียบการต่างๆ โดยจะเริ่มทดลองกับส่วนงานที่ไม่กระทบประชาชนก่อน เช่น งานในส่วนสำนักกลางต่างๆ ทั้งสำนักงานการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักปลัดกทม. สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการ เป็นต้น เพื่อรองรับคนทุกกลุ่มรวมถึงผู้พิการและข้าราชการที่ป่วยด้วย ที่สำคัญคือ การทำงานที่บ้านสามารถลดจำนวนคนที่ต้องเดินทาง ช่วยลดการใช้แอร์คอนดิชัน การจราจรบนถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก (Carbon Neutral) โดยแผนดังกล่าวจะเริ่มนำร่องในส่วนสำนักกลางของกทม.เป็นเวลา 3-4 เดือน และจะเริ่มขยายผลภายในสิ้นปีนี้ต่อไป

 

นอกจากนี้ กทม.มีแผนสร้างความสมดุลระหว่างคนกับงาน (Work life balance) แต่งานบริการประชาชนมีมิติที่ยืดหยุ่นหลากหลาย อาจต้องมีการปรับความเข้าใจและปรับการทำงานในตำแหน่งเฉพาะ เช่น สำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ต้องมีผู้คอยบริการประชาชนตลอดเวลา ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องทำงาน 8 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่ง กทม.กำลังอยู่ระหว่างออกแบบและปรับเปลี่ยนให้ลงตัวเป็นการเฉพาะ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มเห็นความชัดเจนในส่วนนี้