ราษฎร 3 หมู่บ้าน ในอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พากันคัดค้านการเปิดสัมปทานโรงโม่หิน ในพื้นที่ หลังคัดค้านมาแล้วแต่ภาครัฐไม่ยอมฟัง ล่าสุดพบว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดป้ายประกาศขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ยืนยันไม่เอาเด็ดขาดเพราะเคยได้รับผลกระทบมาแล้ว
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ชาวบ้านในหมู่บ้านโป่งดอยช้าง , บ้านท่าข้าม ตำบลบ้านกาศ และชาวบ้านแพะ ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำป้ายข้อความคัดค้านการทำเหมืองแร่ ติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน หลังจากอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำหนังสือการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ติดประกาศให้ทราบว่า มีบริษัทเอกชน ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง คำขอที่ 1/2565 เนื้อที่ 132-0-97 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อหมู่บ้านโป่งดอยช้าง หมู่ 13 ตำบลบ้านกาศ และ บ้านแพะหมู่ 3 ตำบลแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ ออกมาคัดค้าน เนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบ ด้านมลพิษในอากาศ เสียง สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต
แหล่งข่าว ราษฎรในพื้นที่บอกว่า เมื่อปี 2540 หรือ 26 ปีก่อน พื้นที่นี้เคยได้รับสัมปทานมาแล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้นชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งด้านเสียง ฝุ่นมลพิษในอากาศ แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด และสภาพจิตใจ จึงเป็นบทเรียนที่นำมาคัดค้านเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก ทั้งนี้ ราษฎรใน 3 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย บ้านโป่งดอยช้าง หมู่ที่ 13 บ้านท่าข้ามใต้ หมู่ที่ 1 ต.บ้านกาศ และ บ้านแพะ หมู่ที่ 3 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโรงโม่หินได้มาทำการลงชื่อคัดค้านที่ศาลาเอนกประสงค์ บ้านโป่งดอยช้าง ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ให้มีโรงโม่หิน หรือเหมืองแร่ เกิดขึ้นในพื้นที่แน่นอน เพราะ เชื่อว่าชาวบ้านจะได้รับผลกระทบในระยะยาว และ ส่งผลถึงลูกหลานในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ได้มีการประกาศเชิญชวนพี่น้องชาวอำเภอแม่สะเรียง ผ่านเฟซบุคกลุ่มแม่สะเรียง รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการทำโรงโม่หิน ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง เวลา 14.00 น.
ทางด้าน หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า การปิดประกาศ เป็นเพียงการแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบว่ามีการยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ตามกฎหมายเท่านั้น หากประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นคัดค้านได้ภายใน 30 วันหลังจากปิดประกาศ และหากพ้นกำหนด ไม่มีผู้คัดค้านก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งการลงพื้นที่ของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อห่วงใยชาวบ้านในรัศมีการดำเนินการของเหมืองแร่ในรัศมี 500 เมตร โดยทีมงานวิศวกรเมืองแร่ของบริษัทฯ ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
สำหรับพื้นที่การขอประทานบัตร ตามใบอนุญาตขอทำเหมืองแร่อยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่าง บ้านโป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ และบ้านแพะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน บนเนื้อที่ 132-0-97 ไร่ เป็นพื้นที่ขอประทานบัตร 1/2565 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง) การขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ พื้นที่ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง เนื้อที่ตามคำขอฯ อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย หลังมีการปิดประกาศ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างออกมาคัดค้านเนื่องจากเกรงได้รับผลกระทบ โดยช่วงบ่ายวันที่ 31 พฤษภาคม จะรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านการสัมปทานเหมืองแร่ ต่อนายอำเภอแม่สะเรียง ต่อไป