ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ของจังหวัดกาญจนบุรี ว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 21-27 พฤษภาคม 2566 


     มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 538 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 พฤษภาคม 2566 จำนวน 3,484 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 67 ราย (เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จำนวน 12 ราย สีเหลือง 34 ราย สีส้มและสีแดง จำนวน 8 และ 13 ราย ตามลำดับ) มีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 11 ราย สถานการณ์การใช้เตียง มีเตียงทั้งหมด 186 เตียง ใช้งาน 67 เตียง เตียงว่าง 119 เตียง ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวที่มีกิจกรรมนอกบ้าน ที่สำคัญเกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข


     คำแนะนำการป้องกันโรคโควิด-19 ควรสังเกตอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ สวมหน้ากากในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกิจกรรมในสถานที่ที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก ตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 สถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีสมาชิกครอบครัว เพื่อน/เพื่อนนักเรียน/เพื่อนร่วมงานที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค 


     การฉีดวัคซีนโควิด 19 ยังมีความจำเป็นในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งวัคซีนยังเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ขอความร่วมมือประชาชนให้พาผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์การฉีดวัคซีนประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2566 และหากลูกหลานป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ต้องไม่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือหากจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้สูงอายุ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้เห็นชอบให้บริการวัคซีนโควิด 19 ประจำปี เริ่มปี 2566 เป็นปีแรก ฉีดปีละ 1 เข็ม แนะนำช่วงก่อนฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงระบาดมาก พร้อมฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ควบคู่ หรือห่างกันได้ไม่มีระยะกำหนด ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปี 2566 บริการฉีดกลุ่มเสี่ยงหวัดใหญ่ (กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยงในเรือนจำ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ประกอบด้วย หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และบุคคลโรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)


     ส่วนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังให้บริการฟรีเหมือนเดิม ประชาชนสามารถมารับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง แต่หากไม่ได้ฉีดพร้อมกันสามารถฉีดเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง จึงขอเชิญชวนประชาชนมารับวัคซีนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกลุ่ม 608 กลุ่มเสี่ยงการสัมผัส/แพร่เชื้อ คือ อาชีพที่ต้องสัมผัสคนจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่แออัด เช่น ทัณฑสถาน เป็นต้น รวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และ อสม. เพื่อลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประจำปีได้ตามความสมัครใจ