เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (07.00 น.) มีฝนตกปานกลางถึงหนัก ปริมาณฝนสูงสุดที่ จุดวัดส.คลองระหาญ เขตบางขุนเทียน 124 มิลลิเมตร (มม.) รองลงมาที่ จุดวัด ส.คลองสาทร เขตสาทร 86 มม. จุดวัดสำนักงานเขตประเวศ 82 มม. ค.ประเวศฯ-รพ.ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 78.5 มม. จุดวัด ส.คลองบางกอกใหญ่ เขตบางกอกใหญ่ 73 มม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมขัง 7 จุด ได้แก่ 1.ช่วงใต้ทางด่วนแยกสุรวงค์ ถ.สุรวงค์ เขตบางรัก 2.ช่วงตลาดสวนพลู ถ.สวนพลู เขตสาทร 3.ห้าแยก ณ ระนอง ถึงตลาดฮ่องกงปีนัง ถ.พระราม3 เขตคลองเตย4.ถ.สุนทรโกษา-แยกกรมศุลกากร ถ.สุนทรโกษา เขตคลองเตย 5.ซ.สุขุมวิท 26 ถ.พระราม4 เขตคลองเตย 6.ซ.สุขุมวิท16-21 ขาออก ถ.สุขุมวิท71 เขตวัฒนา และ7.กลางซอย-บ่อสูบน้ำสุขุมวิท39(ริมคลองแสนแสบ) ถ.สุขุมวิท39 เขตวัฒนา ปัจจุบันน้ำแห้งเป็นปกติ

 

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล  ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุฝนฟ้าคะนองในพื้นที่กรุงเทพฯว่า สนน.ได้ติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงตรวจสอบและติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม.ขณะเดียวกันได้เร่งลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (หน่วย BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่ฝนเริ่มตก เร่งระบายน้ำตามจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง และบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ  พร้อมทั้งจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงช่องรับน้ำฝน ขยะหน้าตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง จัดเก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องสูบน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์  เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำจัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม

 

นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และยังไม่แล้วเสร็จ โดยให้เร่งแก้ไขปัญหา หรือเปิดทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของกทม.เช่น โครงการก่อสร้างคูระบายน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิตของกรมทางหลวง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆส่วนพื้นที่รอยต่อระหว่าง กรุงเทพฯ ได้จัดประชุมหารือร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณเขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่อาจจะได้รับผลกระทบให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งเปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ ตลอดจนช่องทางแจ้งเหตุ เพื่อขอรับความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com,Facebook:@BKK.BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.0 2248 5115  หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue และสายด่วน กทม.1555 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.)กล่าวว่า สปภ.ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยจัดเตรียมยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และเรือท้องแบน เพื่อรองรับสถานการณ์กรณีเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ และบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ กองโรงงานช่างกล และสำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่อำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางเมื่อเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะในเส้นทาง หรือพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้ทันที อีกทั้งให้ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัยจัดเตรียมถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นการเฉพาะหน้าไว้แล้ว รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุสาธารณภัยจากพายุ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติเมื่อมีสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกฟ้าคะนองและมีพายุทั้งในช่วงก่อนฝนตก ขณะฝนตกและหลังฝนตก โดยก่อนฝนตกได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะออกตรวจสอบบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า - สาธารณูปโภคฯ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจให้ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณา และต้นไม้ใหญ่ หากพบความไม่มั่นคงแข็งแรงให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขทันที นอกจากนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักมีน้ำท่วมขังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดยานพาหนะออกปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านการจราจรและเข้าช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความสะดวกปลอดภัยทันที