เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในเขต กทม. ครั้งที่ 1/2566 ว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้ามีความน่ากังวล โดยเฉพาะในเขตลาดกระบัง พบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข 9 ตัว และเขตหนองจอก 3 ตัว ล่าสุดพบเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่เขตลาดกระบัง จึงออกหน่วยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเขตลาดกระบัง จำนวน 6,926 ตัวครอบคลุมพื้นที่พบโรค 48 จุด คิดเป็นร้อยละ 100 ของพื้นที่ควบคุมโรค และคิดเป็นร้อยละ 68.4 ของพื้นที่ป้องกันโรคทั้งเขต รวมถึง ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในเขตหนองจอก จำนวน 6,405 ตัว ครอบคลุมพื้นที่พบโรค 83 จุด ที่คิดเป็นร้อยละ 100 ของพื้นที่ควบคุมโรค และคิดเป็นร้อยละ 65 ของพื้นที่ป้องกันโรคทั้งเขต จากข้อมูลเบื้องต้น กทม.มีสุนัขและแมวจรจัดประมาณ 200,000 ตัว แนวทางแก้ไขคือ เพิ่มอัตรากำลังในการปฏิบัติงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เพื่อสำรวจข้อมูลสุนัขและแมวจรจัดในชุมชน ประสานฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสุนัขและแมว รวมถึง ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิและสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการทำหมันและฉีดวัคซีน เพราะ กทม.ไม่มีพื้นที่กักกันสุนัขและแมวจรจัดเพียงพอต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับกลุ่มที่สร้างความเดือดร้อนรุนแรง เช่น สุนัขไล่กัดคน โดย กทม.มีสถานที่ควบคุมและพักพิงสุนัข เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน 2 แห่ง คือ ศูนย์ควบคุมสุนัข กทม. เขตประเวศ พื้นที่ 13 ไร่ รองรับสุนัขได้ 1,000 ตัวอยู่ระหว่างการปรับปรุง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.นี้ และที่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี พื้นที่ 200 ไร่ รองรับสุนัขได้6,400 ตัว (ดูแลตลอดชีวิต) ปัจจุบันดูแลสุนัข 3,312 ตัว แนวทางป้องกันคือ ทำหมันและฉีดวัคซีน แล้วปล่อยกลับสู่พื้นที่เดิม เพื่อป้องกันสุนัขใหม่เข้ามาแทนที่ พร้อมสร้างความเข้าใจกับชุมชน รวมถึง สนับสนุนให้ประชาชนรับสุนัขและแมวในสถานพักพิงมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ภายใต้เงื่อนไขความรับผิดชอบ ไม่ทารุณกรรมสัตว์

 

ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กทลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.กำลังสร้างฐานข้อมูลสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการด้านต่างๆ เช่น ควบคุมจำนวน ฉีดวัคซีน ส่งเสริมการเลี้ยงด้วยความรับผิดชอบ จำกัดพื้นที่ เป็นต้น ผ่านประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควบคุมจำนวนประชากรสัตว์เลี้ยง และส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสัตว์ด้วยความรับผิดชอบ โดยยกเว้นอัตราค่าบริการเกี่ยวกับสุนัขและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้แก่ 1.ค่าขอรับคืนสุนัข 2.ค่าฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ 3.ค่าผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว เพศผู้ เพศเมีย 4.ค่าบริการรับฝากดูอาการโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว เป็นระยะเวลา 10 วัน 5.ค่าบริการติดเครื่องหมายประจำสัตว์ นอกจากนี้ ยังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์และกำหนดจำนวนการเลี้ยงตามขนาดของพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสุนัขและแมว และด้านสาธารณสุขในอนาคต