นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในการเปิดตัวรายงานเรื่อง "การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย : การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน" ที่จัดโดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ว่า คาดว่าในปีงบประมาณ 2566 ภาพรวมการจัดเก็บรายได้จะดีขึ้นกว่าช่วงโควิด-19 อย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลก็ตาม โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย.66) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9% ทำให้มั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 จะทำได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน
โดยหลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึงในระยะถัดไป คือ การเพิ่มสวัสดิการให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง การส่งเสริมการลงทุนในอนาคต โดยกระทรวงการคลังจะต้องผลักดันนโยบายการคลังเชิงรุก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเดินหน้านโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไป และบริการจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เข้มข้นมากขึ้น ประสานนโยบายให้ทั่วถึง
ขณะเดียวกันมีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งพิจารณาคือ ราคาพลังงานที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้วางมาตรการช่วยเหลือที่ตรงเป้าผ่านการอุดหนุนเงินในวงกว้าง แต่ต้องยอมรับว่าการอุดหนุนใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ แต่ก็สามารถรักษาระดับราคาขายและรักษาอัตราเงินเฟ้อได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ คาดว่าในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 3% อย่างแน่นอน
สำหรับในอนาคตนโยบายการอุดหนุนต่างๆต้องถอนตัวออกมา เพราะในระยะปานกลางรัฐบาลมุ่งหวังที่จะใช้นโยบายการคลังแบบรัดเข็มขัด โดยได้มีการกลับมาทบทวนและวางกรอบนโยบายการคลังระยะปานกลาง ปี 2567-2570 โดยในปี 2567 ตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณ 3% และลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่คาดว่าจะลดลงจาก 61.78% ในปี 2568 เป็น 61.25% ในปี 2570 และตามรายงานของธนาคารโลกที่นำเสนอเรื่องการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า เมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐให้ดีขึ้นราว 3.5%
นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและยืดหยุ่นมากขึ้นได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และการใช้นโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและนโยบายที่เกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิรูปทางการคลังของประเทศไทยเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
โดยในระยะยาว การรับมือกับภาระทางการคลังที่จะเกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น พร้อมกับบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ผ่านการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า อาทิ การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่างๆ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย การขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้มีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการปฏิรูปเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการปฎิรูปด้านภาษีมีผลต่อผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนสามารถรับการทดแทนโดยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่างๆ ซึ่งยังส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้นด้วย