วันที่ 29 พ.ค.2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังร่วมมือสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานแพทย์พยาบาลฉุกเฉินต่างๆ เพื่อการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้ภายใน 8 นาที เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่า สภาพเมืองหนาแน่นไม่เอื้อต่อการเข้าถึงผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน จากสถิติรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากโรงพยาบาลกลางสามารถเข้าถึงผู้ป่วยภายใน 8 นาทีได้ แต่บริบทอื่นพบว่ายังเป็นอุปสรรคอยู่ จึงแก้ปัญหาโดยการเพิ่มมอเตอร์แลนซ์ หรือมอเตอร์ไซค์ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีอุปกรณ์การแพทย์เบื้องต้น และกล้องวิดีโอฉายภาพไปยังแพทย์ที่โรงพยาบาลต้นสังกัดตลอดการช่วยเหลือ ทำให้แพทย์สามารถแนะนำการรักษาได้ทันที ณ จุดเกิดเหตุ โดยไม่ต้องเสียเวลาขนส่งผู้ป่วยมายังโรงพยาบาล

 

จากการนำร่องของโครงการราชพิพัฒน์โมเดล พบว่า มอเตอร์แลนซ์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยเฉลี่ย 4 นาที ช้าสุด 7 นาที เร็วสุด 3 นาที ขณะที่รถพยาบาลส่วนใหญ่เฉลี่ย 13 นาที จึงมีแผนขยายมอเตอร์แลนซ์ไปประจำทั้ง 50 เขตใน กทม. รวมถึงประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมอเตอร์แลนซ์ไปประจำการ เพื่อเข้าถึงผู้ป่วยได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

 

สำหรับมอเตอร์แลนซ์ เป็นมอเตอร์ไซค์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยชีวิตโดยตรง เป็นพาหนะพาหน่วยฉุกเฉินไปถึงผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หรือเรียกว่า รถฉุกเฉินไม่ลำเรียง ขณะที่รถพยาบาลทั่วไปเรียกว่า รถฉุกเฉินลำเรียง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดยการทำงานของมอเตอร์แลนซ์จะเชื่อมต่อกล้องวิดีโอไปยังห้องพยาบาลฉุกเฉินโดยอัตโนมัติเมื่อรถเริ่มทำงาน เมื่อไปถึงจุดเกิดเหตุทีมฉุกเฉินจะเห็นสภาพผู้ป่วยและเริ่มประเมินการรักษาได้ทันที เมื่อรถพยาบาลมาถึงภายหลังจะทราบรายละเอียดผู้ป่วยเบื้องต้นได้ กรณีต้องส่งต่อโรงพยาบาล ทำให้การรักษาต่อเนื่อง ไม่ต้องประเมินอาการซ้ำ ลดเวลาในการรักษา ทั้งนี้ มอเตอร์แลนซ์แต่ละพื้นที่จะถูกกำกับการออกหน่วยโดยหน่วยฉุกเฉิน 1669 และอยู่ระหว่างเพิ่มช่องทางการรับเหตุผ่านระบบแอพพลิเคชั่นของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่ทับซ้อนงานอาสากู้ชีพ ซึ่งจะเริ่มเห็นผลภายในเดือน มิ.ย.นี้