กทม.นำร่องโครงการห้องเรียนดิจิทัล ที่ไม่ใช่เพียงโครงการแจกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กให้นักเรียน แต่มีเป้าประสงค์ส่งเสริมเครื่องมือที่สะดวกต่อการเรียนการสอนสำหรับครูและนักเรียน ผ่านระบบแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีมากมายในโลก ซึ่งกรุงเทพมหานครเริ่มทดลองครั้งแรกที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน กับนักเรียนระดับชั้น ป.4 โดยการสนับสนุนโน้ตบุ๊กจำนวน 40 เครื่อง จากบริษัท เอซุส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อการวิจัยการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ผ่านระบบดิจิทัล

นางทรายทอง ตรีสัตยกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า นักเรียนชั้น ป.4 จำนวน 40 คน จะต่อแถวที่ห้องวิชาการเพื่อรับโน้ตบุ๊กใส่ถุงผ้า นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนวิชาต่างๆ ซึ่งโน้ตบุ๊กที่ได้รับไปเป็นศูนย์รวมข้อมูลการเรียนการสอนทั้งหมด เช่น การบ้านวิชาต่างๆ แบบทดสอบ รวมถึงเอกสารการเรียนการสอน สามารถสืบค้นได้ ไม่สูญหาย โดยไม่ต้องเก็บเอกสารรายวิชามากมายเหมือนก่อน

“โครงการห้องเรียนดิจิทัล” เริ่มต้นที่ครูผู้สอนเป็นอันดับแรก ต้องผ่านการฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรมต่างๆ สำหรับการสอน เช่น Google Classroom โปรแกรมศูนย์รวมสำหรับการสอนและการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและปลอดภัย สามารถบริหารจัดการการศึกษา วัดผล และสร้างความน่าสนใจให้กับผู้เรียนได้ รวมถึงโปรแกรม Kahoot เกมที่ตอบสนองการเรียนการสอน ช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียน เป็นเครื่องมือช่วยในการประเมินผล ผ่านการตอบคำถาม การอภิปราย และการสำรวจความคิดเห็น รวมถึง การฝึกอบรมการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลผ่านเครื่องมือดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมอีกมายมายที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสอนได้ ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนในแต่ละวิชา แต่หลักๆ คือ 2 โปรแกรมดังกล่าว ก็เพียงพอต่อการสอนในทุกมิติ ยกตัวอย่าง การจับคู่ฝึกพูดภาษาอังกฤษในชั้นเรียน แต่เดิมครูต้องตามฟังนักเรียนพูดทีละคู่ ซึ่งอาจมีการแนะนำไม่ทั่วถึงเนื่องจากมีเวลาจำกัด แต่ปัจจุบันสามารถให้นักเรียนบันทึกเสียงพูดผ่านแอพพลิเคชั่นได้ แล้วจัดเก็บไว้ในโฟลเดอร์ที่กำหนด ซึ่งครูสามารถฟังเสียงภายหลังได้โดยละเอียด และสามารถชี้จุดดีจุดด้อยของเด็กได้เป็นรายบุคคล เพื่อปรับปรุงแก้ไข หรือ วิชาภาษาไทย เมื่อคัดลายมือเสร็จนักเรียนสามารถถ่ายรูปผลงานส่งครูผ่านระบบแอพพลิเคชั่นได้ทันที นอกจากนี้ ครูสามารถตรวจการบ้านนักเรียนได้ทุกที่ผ่านโน้ตบุ๊กเครื่องเดียว และสามารถคัดเด็กจากแบบทดสอบได้ เพื่อสอนเพิ่มเติมเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล เช่น ประมวลคำตอบที่เด็กส่วนใหญ่ตอบผิดผ่านระบบดิจิทัล เพื่อชี้แจงให้เข้าใจ

“การทำโครงการห้องเรียนดิจิทัล จะส่งผลดีต่อเด็กนักเรียนอย่างมาก เด็กสามารถสืบค้นการบ้านย้อนหลังและส่งการบ้านได้อย่างสะดวกโดยลดการใช้สมุดหรือเอกสารลง เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ลดค่าใช้จ่าย โดยหลังจากนี้ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์จะขยายโครงการไปสู่นักเรียนชั้น ป.4 ทั้ง 9 ห้อง รวมถึงนักเรียนชั้น ป.4 ที่กำลังขึ้นชั้น ป.5 ก็ยังกำหนดให้เรียนระบบดิจิทัลต่อไป” ผอ.โรงเรียนไทยนิยม กล่าว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า Chromebook คือระบบปฏิบัติการ Chrome ออกแบบมาเพื่อใช้งานแอปพลิเคชันและพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ โดย กทม.ร่วมมือกับกูเกิล เพื่อเตรียมบรรจุระบบปฏิบัติการดังกล่าวในโน้ตบุ๊ก ซึ่งขณะนี้กำลังเปิดรับบริจาคโน้ตบุ๊กเก่านำมาปรับปรุงระบบและความปลอดภัยให้เด็กทุกโรงเรียนนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเรียน ส่วนโครงการห้องเรียนดิจิทัล เป็นโครงการศึกษาวิจัยร่วมกับกูเกิลและหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำร่องปรับรูปแบบการสอนให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย จากการวิจัยระยะเวลา 1 เทอม ในนักเรียนระดับชั้น ป.4 จำนวน 1 ห้อง ที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ บางเขน ได้รับเสียงตอบรับจากนักเรียนและครูเป็นอย่างดี จึงมีแผนขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพราะหากจะลงรายละเอียดจริงๆ แล้ว โครงการนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณมาก เนื่องจาก โน้ตบุ๊กเก่าสามารถปรับปรุงให้รองรับโปรแกรม Google Classroom ได้ เพราะใช้พื้นที่จัดเก็บน้อย และสามารถควบคุมการเข้าเว็บไซต์ไม่เหมาะสมได้

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภายในปี 2569 กทม.จะขยายโครงการห้องเรียนดิจิทัลให้ครบทั้ง 437 โรงเรียน ซึ่ง กทม.ขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ไม่ใช้แล้ว แต่ยังมีสภาพดีพร้อมใช้งาน ส่งต่อให้น้องๆ ได้นำไปใช้ต่อ เพื่อสนับสนุนการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองนำร่องที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน และพบว่า นักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กประกอบการเรียน มีการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ มีความสนใจในการเรียน และมีสมาธิขณะเรียนมากขึ้น ทั้งนี้ จึงได้ตั้งเป้าจัดหาโน๊ตบุ๊กให้ถึง 130,000 เครื่อง ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยเริ่มต้น 2,200 เครื่อง ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 (นำร่อง 11 โรงเรียน สำหรับนักเรียนชั้น ป.4 และ ม.1 ในโรงเรียนสังกัดกทม.) และมีเป้าหมายเพิ่ม 12,500 เครื่อง ภายในปี 2567 เป้าหมาย 44,000 เครื่อง ภายในปี 2568 และเป้าหมาย 72,000 เครื่อง ภายในปี 2569 สำหรับผู้ที่สนใจบริจาค สามารถแจ้งความประสงค์โดยสแกน QR Code หรือคลิกลิงก์ บอกจำนวนที่จะบริจาคได้ที่ https://forms.gle/9ZjbeaFeHoQ1WPyR8