เมื่อวันที่ 27 พ.ค.66  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ปัจจุบันบริการทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์มีความหลากหลาย โดยเฉพาะการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน ผู้ใช้บริการก็ให้ความนิยมเนื่องจากมีความสะดวกสบาย แต่ก็กลายเป็นช่องให้มิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง ฉกฉวยเอารัดเอาเปรียบประชาชน มีตัวอย่างให้เห็นในข่าวตามสื่ออยู่เป็นระยะ

เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จึงได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการสังเกตแอปพลิเคชันเงินกู้ว่าลักษณะแบบไหนเป็นแอปฯ ที่อยู่ในระบบได้รับการกำกับโดยแบงก์ชาติ แบบไหนเป็นแอปฯ เงินกู้นอกระบบ หรือลักษณะใดเป็นแอปฯ ปลอม เพื่อเป็นความรู้ป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอกจากมิจฉาชีพ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  กรณีแอปฯ เงินกู้ที่ถูกกฎหมาย จะต้องเป็นแอปฯของผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตที่เป็นสถาบันการเงิน 39 แห่ง และที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 120 แห่ง  โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของ ธปท. หรือเข้าไปที่  https://bit.ly/3OG6vb7_BOT_license-loan

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจะถูกกำกับโดยกฎหมายที่เข้มงวด จ่ายเงินกู้ให้เต็มจำนวนตามกู้ และคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่กำกฎหมายกำหนด คือสินเชื่อส่วนบุคคลต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโน ไฟแนนซ์) ไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี บัตรเครดิตไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปี โดยสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขการให้สินเชื่อแต่ละรายได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท.  https://app.bot.or.th/1213/MCPD/ProductApp/PersonalLoan

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หากมีผู้มาเสนอให้บริการสินเชื่อผ่านแอปฯ ขอให้สนใจจะกู้เงินตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตตามช่องทางข้างต้นก่อน หากตรวจแล้วไม่พบชื่อ หรือมีชื่อแต่ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอไม่ตรงกับที่แจ้งไว้กับ ธปท. ขอ ให้คาดการณ์ไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพที่เป็นไปได้ทั้งแอปฯเงินกู้นอกระบบ หรือแอปฯ ปลอม

โดยกรณีแอปฯ เงินกู้นอกระบบจะมีลักษณะให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวนตามกู้ เช่นอ้างว่าหักเป็นค่าดำเนินการ หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า แต่ผู้กู้ยังต้องชำระเต็มจำนวน มีการคิดดอกเบี้ย/ค่าปรับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดมาก ระยะเวลาการชำระคืนสั้น มีการทวงหนี้แบบข่มขู่ คุกคาม ซึ่งกรณีที่พบบ่อยคือเมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันลงโทรศัพท์มือถือแล้ว ผู้ปล่อยกู้จะสามารถเข้าถึงรายชื่อในโทรศัพท์ของผู้กู้ จะมีการส่งข้อความ หรือโทรหาบุคคลต่างๆ ตามรายชื่อในโทรศัพท์เพื่อข่มขู่ ประจานให้ผู้กู้อับอาย เป็นต้น

ส่วนถ้าเป็นแอปฯ เงินกู้ปลอม จะหลอกให้โอนเงินเป็นค่าใช้จ่ายก่อน เช่น ค่าค้ำประกัน ค่าทำสัญญา แล้วให้โอนอีกเรื่อยๆ แต่สุดท้ายไม่ได้ให้กู้จริง

“ภาครัฐมีการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการทำงาน เร่งรัดกวาดล้างมิจฉาชีพที่แพร่ระบาดในช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก แต่การแจ้งเตือนให้ประชาชนให้ระมัดระวัง เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพ รู้วิธีหรือจุดสังเกตเปรียบเทียบได้บริการทางการเงินในช่องทางออนไลน์ จะเป็นการป้องกันที่สำคัญและลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มาก” น.ส.ไตรศุลี กล่าว