ชาวบ้านริมแม่น้ำกระบุรีเดือดร้อนหนัก เหมืองแร่ฝั่งเมียนมาปล่อยน้ำพิษอาบแล้วคัน สัตว์น้ำหาย การท่องเที่ยวสูญ จี้หน่วยงานรัฐประท้วงทางการเมียนมา

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชายบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกระบุรี อ.กระบุรี จ.ระนอง ว่าไม่สามารถใช้น้ำในแม่น้ำกระบุรีซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างไทย-พม่าได้ได้เนื่องจากมีการทำเหมืองในฝั่งประเทศพม่าทำให้น้ำขุ่นและคัน ริมตลิ่งตื้นเขิน สัตว์น้ำทยอยหายไปจากลำน้ำ เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 4 ปี 

ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า เหมืองดังกล่าวน่าจะเป็นเหมืองดีบุกหรือทองคำ อยู่ในพื้นที่ประเทศเมียนมาห่างจากชายแดนไทย 19 กิโลเมตร แต่เนื่องจากต้นแม่น้ำกระบุรีอยู่ในเมียนมา เมื่อมีการปล่อยน้ำจากเหมืองทำให้น้ำขุ่นทั้งปี ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคือใช้น้ำแล้วมีอาการคันตามร่างกาย และทุกชุมชนริมแม่น้ำกระบุรีใช้น้ำประปาสูบจากแม่น้ำในการบริโภคอุปโภคจึงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

ชาวบ้านกล่าวว่า เคยทำหนังสือยื่นให้กับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากจั่น ไปแล้วให้ช่วยดำเนินการเอกสารส่งไปหน่วยงานราชการระดับจังหวัดว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในประเทศเมียนมา แต่ทุกวันนี้สถานการณ์ยังย่ำแย่เหมือนเดิม

“ความช่วยเหลือที่ต้องการเร่งด่วนคืออยากให้น้ำขุ่นน้อยลงหรือใสไปเลย ตอนนี้ขาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำ ไม่เฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบ สัตว์น้ำบางชนิดน้อยลงมาก เช่น หอย กุ้ง ลดลงเยอะใน 4 ปีที่ผ่านมานี้” ชาวบ้านกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน จ.ระนอง กล่าวว่า ช่วงนี้รัฐบาลทหารพม่ามีปัญหาภายในเพราะต้องต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ความเดือดร้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำกระบุรี ทางชุมชนไม่สามารถไปพูดคุยอะไรได้เลย ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนเพราะอยากให้หน่วยงานรัฐของไทยไปคุยกับทางการพม่า แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพ

ด้านนายพีระ ประสงค์เวช ชาวบ้านริมแม่น้ำกระบุรี กล่าวว่า ตนได้รับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองในประเทศเมียนมา เพราะส่งผลกระทบกับชาวบ้านทุกกลุ่มตั้งแต่ผู้ใช้น้ำไปจนถึงเกษตรกร ส่วนการท่องเที่ยวก็ต้องปิดตัวชั่วคราวเพราะน้ำขุ่นเป็นโคลน

“พวกเราต้องการให้หน่วยงานรัฐทำหนังสือยื่นประท้วงไปยังทางการพม่า เนื่องจากชุมชนเคยยื่นไปเองแต่ทางพม่าไม่ให้ความสำคัญแค่รับเรื่องเท่านั้น ทั้งๆที่ปัญหานี้เกิดมาเกือบ 4 ปีแล้ว เขาคิดว่าเราเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แต่จริงๆแล้วคนใน 3 อำเภอ คือ กระบุรี ละอุ่น และอำเภอเมือง ต่างได้รับผลกระทบ แม้บางพื้นที่ยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจนแต่ก็เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน ในขณะที่ อ.กระบุรี ไปจนถึงคอคอดกระ ส่งผลชัดเจนแล้ว ทั้งปัญหาน้ำขุ่น สัตว์น้ำสูญหาย พืชน้ำตาย ริมตลิ่งตื้นเขินมีโคลน เราเคยร้องเรียนซึ่งหน้ากับผู้ว่าราชการ จ.ระนอง เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563 จนเดี๋ยวนี้ผู้ว่าฯ เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข”นายพีระ กล่าว

นายพีระ กล่าวว่า ตนได้เข้าประชุมเอาปัญหานี้ไปพูดตลอดจนมีคนแนะนำให้ทำเป็นเอกสารยื่นกับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เมื่อ 1 ก.พ.2566 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ยังเงียบสนิท แถมยังบอกด้วยว่าเพราะพม่ามีปัญหาการเมืองภายในประเทศจึงทำให้เข้าไม่ได้ แม้ช่วงที่ไม่มีสงครามบริเวณเหมืองก็ห้ามบุคคลภายนอกเข้า มีทหารพม่าคอยตรวจค้นตัวว่าพกกล้องถ่ายรูปเข้าไปหรือไม่

“แต่เท่าที่ทราบจากเพื่อนที่เป็นชาวพม่า คือในเหมืองมีการขนเครื่องจักรหนักเข้าไป มีแบ็คโฮ 8 คัน สิบล้ออีก 10 คัน นี่เป็นข้อมูลเมื่อปี 2564 คนเมียนมาเองก็เดือดร้อนเขาต้องใช้น้ำอาบจากแม่น้ำสายนี้แต่เขาไม่รู้จะร้องเรียนที่ไหน อาบแล้วก็คันต้องจำใจ” นายพีระ กล่าว

ทั้งนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหาดจิก ได้ทำหนังสือถึงนางนฤมล บุญช่วย นายก อบต.ปากจั่น ลงวันที่ 1 ก.พ.2566 โดยระบุว่า เนื่องด้วยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มล่องแพลำน้ำกระบุรีและชาวบ้านบ้านหาดจิก หมู่ที่ 5 อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกระบุรีและพื้นที่ข้างเคียงได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ฝั่งประเทศเมียนมา กระทบความเป็นอยู่ในการนำน้ำในแม่น้ำกระบุรีมาใช้ประโยชน์ สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ที่สามารถทำรายได้ให้กับชาวบ้านมีจำนวนลดลงมาก น้ำในแม่น้ำมีสีขุ่นตะกอนดินหนาแน่น แม่น้ำตื้นเขิน ระบบนิเวศเสียหาย ขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานท้องถิ่นแจ้งเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของฝั่งพม่าที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีพของชาวบ้านบ้านหาดจิกหมู่ 5  

หลังจากที่ชาวบ้านร้องเรียนไป นางนฤมล นายก อบต.ปากจั่น ได้ลงนามแล้วส่งให้กองช่างดำเนินการ ต่อมา วันที่ 10 ก.พ.2566 ทางกองช่าง อบต.ปากจั่น ได้ทำหนังสือเชิญ 7 หน่วยงาน ได้แก่ ท้องถิ่นจังหวัดระนอง, นายอำเภอกระบุรี, ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ระนอง, สาธารณสุขจังหวัดระนอง, ผู้กำกับการ สภ.ปากจั่น, หัวหน้าชุดหน่วยปฏิบัติกิจการพลเรือน กองกำลังเทพสตรีที่ 402 และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหาดจิก เพื่อเชิญหารือและบรรเทาความาเดือดร้อน อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ความเดือดร้อนของชาวบ้านลุ่มน้ำกระบุรี ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขบรรเทา