วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพ้นที่ โดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ มุ่งเน้นการนำต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ไปสู่การพัฒนาชุมชนในการสร้างงานและสร้างรายได้ โดยมีนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายประจัน ดาวังปา ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน กว่า 100 คน เข้าร่วม
นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ดังนั้น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับจังหวัด (จังหวัดกาฬสินธุ์) เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งมีการจัดเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ BCG Model จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ด้านนายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีฐานทรัพยากรสำคัญหลายด้าน มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เช่น ป่าไม้ น้ำ และทรัพยากรด้านวัฒนธรรม รวมทั้งกุ้งก้ามกราม ที่ส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ ข้าวเหนียวเขาวง ผ้าไหมแพรวา ขณะที่ BCG Model หรือการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ เป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ส่งผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม และภาวะโลกร้อน ที่เกิดจากความสมดุลทางธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การปลูกป่า ปลูกต้น ไม้ยืนต้น ก็มีคุณค่าไม่แตกต่างกัน
นายพิชิต กล่าวอีกว่า ในประเด็นนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นว่าทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชน จะสามารถนำต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ไปเป็นหลักทรัพย์ สามารถเข้าถึงแหล่งทุน สถาบันการเงินต่างๆ ที่จะสามารถมีทุนในการต่อยอดสร้างงาน สร้างรายได้ จึงได้มีนโยบายเดินหน้าขับเคลื่อนรับรองมูลค่าไม้ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ ในการเข้าถึงแหล่งทุน โดยส่งเสริมการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว เตรียมผลักดันต้นไม้ให้มีมูลค่าให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ ได้ในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดเวทีอภิปราย และเวทีระดมความคิดเห็น จากบุคลากรที่มาจากส่วนราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อนำข้อมูลและบทสรุป ไปสู่การพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ ไปสู่ความยั่งยืนอีกด้วย