ราม  วัชรประดิษฐ์ www.arjanram.com พระนิรันตราย พระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีการค้นพบในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ในราวปี พ.ศ.2399 นับเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญประจำรัชกาลองค์หนึ่ง โปรดฯ ให้อัญเชิญประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีต่างๆ อาทิ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ทำบุญตรุษ), พระราชพิธีสงกรานต์ ฯลฯ ปัจจุบันเจ้าพนักงานภูษามาลายังคงรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยอัญเชิญ ‘พระนิรันตราย’ ไปประดิษฐานในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และการพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น องค์เดิมเมื่อครั้งขุดพบ ตามประวัติการค้นพบกล่าวไว้ว่า ... ในครั้งนั้นเมื่อปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 74 หรือ พ.ศ.2399 กำนันอิน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เมืองปราจิณบุรี ฝันว่าจับช้างเผือกได้ หลังจากนั้นไม่นานท่านกับบุตรชายชื่อ นายยัง ได้เดินทางเข้าป่าเพื่อขุดมันนกในบริเวณชายป่า ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณ 3 เส้น ก็ได้พบพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ศิลปะสมัยทวารวดี หล่อด้วยทองคำเนื้อหก มีน้ำหนัก 8 ตำลึง จึงนำไปมอบให้ พระเกรียงไกร กระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พระเกรียงไกรได้พากำนันอินและนายยังเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปทองคำ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดฯ ว่า ‘สองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลายหรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย’ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินตราเป็นรางวัล และโปรดฯ ให้เจ้าพนักงานอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตร คู่กับ ‘พระกริ่งทองคำน้อย’ ... พระนิรันตราย พระนาม “พระนิรันตราย” อันหมายถึง ปราศจากอันตรายนิรันดร์ นั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานพระนามด้วยพระองค์เอง สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2403 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ได้สร้างปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏ เมื่อมีคนร้ายลักลอบเข้าหอเสถียรธรรมปริตร ลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไป แต่กลับไม่เอาพระพุทธรูปทองคำที่ประดิษฐานอยู่คู่กันไปด้วย ทั้งที่องค์พระมีขนาดเขื่องกว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ….พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินทูลเกล้าฯ ถวายนั้น เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักองค์ใหญ่ไปแต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง 2 ครั้ง ... จึงทรงพระราชดำริให้เจ้าพนักงานทำการหล่อพระพุทธรูปนั่ง ปางสมาธิเพชร เนื้อทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้วครึ่ง เพื่อสวมพระพุทธรูปองค์ในไว้อีกชั้นหนึ่ง และยังโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์ไว้คู่กัน พระอารามที่ประดิษฐานพระนิรันตราย             เมื่อพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติมีพระอารามมากขึ้น ในปี พ.ศ.2411 พระองค์จึงทรงโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันนี้ เป็นเนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง โดยมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ มีอักขระขอมแสดงพระพุทธคุณจำหลักลงในวงกลีบบัว เบื้องหน้า 9 เบื้องหลัง 9 ยอดเรือนแก้วเป็นรูปพระมหามงกุฎ ตั้งติดอยู่กับฐานชั้นล่าง รองฐานพระซึ่งเป็นที่สำหรับรับน้ำสรงพระ จำนวน 18 องค์ เท่ากับจำนวนปีที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติ พระราชทานนามว่า "พระนิรันตราย" เช่นกัน เพื่อพระราชทานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำพระอารามต่างๆ แต่ยังไม่ทันกะไหล่ทอง พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้นายช่างทำการกะไหล่ทองทั้ง 18 องค์ให้แล้วเสร็จ และพระราชทานไปตามวัดคณะธรรมยุติจำนวน 18 วัด ตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก ประกอบด้วย วัดราชาธิวาส, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดเทพศิรินทราวาส, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดบรมนิวาส, วัดมกุฏกษัตริยาราม, วัดโสมนัสวิหาร, วัดบุรณศิริมาตยาราม, วัดราชผาติการาม, วัดปทุมวนาราม, วัดสัมพันธวงศ์, วัดเครือวัลย์, วัดบุปผาราม, วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี, วัดยุคันธราวาส จ.นนทบุรี, วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จ.พระนครศรีอยุธยา และ วัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นทรงสร้างพระราชทานเพิ่มอีกวัดละ 1 องค์ ในเวลาต่อมา พระนิรันตราย วัดราชประดิษฐฯ รุ่น 1 ปี 2488 ปัจจุบัน "พระนิรันตราย องค์จริง” ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง “พระนิรันตราย” นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้กราบไหว้สักการะมักมีประสบการณ์ปาฏิหาริย์สมดังพระนามที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทาน เป็นที่ความเคารพเลื่อมใสจากพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง วัดธรรมยุติทั้ง 18 วัด จึงนิยมจัดสร้างเป็นวัตถุมงคล ทั้ง พระบูชา พระเครื่อง พระพิมพ์ และเหรียญ สำหรับแจกจ่ายเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ เพื่อสักการบูชาในเคหะสถานและสะดวกแก่การพกพาติดตัวให้เกิดความสิริมงคลสืบมา วัตถุมงคลพระนิรันตราย วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ปี 2515 การจัดสร้าง “วัตถุมงคลพระนิรันตราย” ในยุคต้นๆ นั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดสร้างกันภายในสำหรับตนและวงศ์ตระกูล จึงไม่ค่อยเวียนให้เห็นกันในวงการนัก อาทิ พระกริ่งนิรันตราย วัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หรือ พระนิรันตราย วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม รุ่น 1 ปี 2488 และรุ่น 2 ปี 2495 เป็นต้น พระกริ่งนิรันตราย วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2528 เท่าที่พบเห็นกัน ณ ปัจจุบัน ส่วนมากจะเป็นการจัดสร้างหลังปี 2500 มีอาทิ วัตถุมงคลพระนิรันตราย วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ปี 2515 ที่ระลึกในงานฉลองสมโภชครบ 108 ปี, พระกริ่งนิรันตราย วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ปี 2525, พระกริ่งนิรันตราย วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2528 ฯลฯ