โซเนวา (Soneva) เปิดตัว อควาเทอร์รา เซ็นเตอร์ (AquaTerra Centre) แหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายในธรรมชาติทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ที่ โซเนวา ฟูชิ (Soneva Fushi) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความพยายามในด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งในทะเล และบนบก อีกทั้งเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนอย่างมั่นคงให้กับมัลดีฟส์ และรีสอร์ต
อควาเทอร์รา ได้แรงบันดาลใจมาจากความสวยงามทางธรรมชาติที่สวยงาม และไม่เหมือนใครของ โซเนวา ฟูชิ ที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมไว้ซึ่งความยั่งยืน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และประสบการณ์อันหาได้ยาก เพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีววิทยา เช่นเดียวกันกับโครงการฟื้นฟูปะการังของมูลนิธิโซเนวา (Soneva Foundation Coral Restoration Programme) ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องระบบนิเวศท้องถิ่น และจะเป็นประสบการณ์ที่สามารถส่งต่อแรงบันดาลใจได้ต่อไป รีสอร์ตยังเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และพร้อมร่วมมือกับทั้งมหาวิทยาลัย และนักวิทยาศาสตร์ที่มีโอกาสได้มาเยือนที่รีสอร์ตแห่งนี้
อควาเทอร์รา เซ็นเตอร์ เป็นหน่วยงานหลักในโครงการฟื้นฟูปะการังของมูลนิธิโซเนวา (เปิดตัวในปี 2564) โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูระบบแนวปะการังรอบ ๆ โซเนวา ฟูชิ และสร้างศูนย์กลางปะการังสำหรับมัลดีฟส์ รีสอร์ตได้ดำเนินงานโครงการนี้ร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ชื่อ Coralive โดยใช้เทคโนโลยี Mineral Accretion (MAT) เพื่อส่งไฟฟ้าแรงดันต่ำผ่าน Coral Tables ที่ตั้งอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโตของปะการังได้อย่างมีประสิทธิภาพ อควาเทอร์รา เซ็นเตอร์ ยังเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการวางไข่และเพาะเลี้ยง ซึ่งพัฒนาร่วมกับทีมงานจาก Coral Spawning Lab เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาให้ปะการังทนความร้อนได้ดี รวมทั้งมีห้องแล็บการพิมพ์ 3 มิติเพื่อผลิตพื้นผิวปะการังเทียม และภายในปี 2566 มูลนิธิโซเนวา จะมอบทุนสนับสนุนการติดตั้งห้องปฏิบัติการแยกส่วนขนาดเล็ก โดยได้รับคำแนะนำจาก ดร David Vaughan ให้ติดตั้งถังกลางแจ้งไว้ 28 ใบซึ่งสามารถผลิตปะการังได้มากถึง 100,000 ชิ้นต่อปี รวมทั้งการติดตั้งกล้องไลฟ์สดพร้อมซอฟต์แวร์เพื่อการจดจำที่เรือนเพาะชำปะการัง เพื่อทำงานร่วมกับข้อมูลจาก SmartBuoy
นอกจากนี้ อควาเทอร์รา เซ็นเตอร์ ยังเป็นแรงสนับสนุนความพยายามของทีมที่ดูแลเรื่องชีววิทยาทางบกของโซเนวา (Soneva’s Terrestrial Biology) โดยเฉพาะโครงการกำจัดยุงในรีสอร์ตต่าง ๆ ทั่วมัลดีฟส์ผ่านนวัตกรรมกับดักกำจัดยุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการพ่นสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่รีสอร์ตเป็นผู้ริเริ่ม ในขณะเดียวกัน ทีมงานของรีสอร์ตก็ได้ริเริ่มโครงการใหม่เพื่อจัดการกับหนอนบุ้งซึ่งอาศัยอยู่บนต้นหูกวางที่เติบโตอยู่รอบเกาะ โดยได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ (University of McGill) จากประเทศแคนาดา และสถาบันวิจัยแห่งชาติแคนาดา (Canadian National Research Institute) ในโครงการสร้างแผนที่ด้วยการสแกนแบบไฮเปอร์สเปกตรัม (Hyperspectral Mapping) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพขั้นสูงที่จับภาพและประมวลผลข้อมูลจากสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า ให้ชุดข้อมูลที่มีรายละเอียด ช่วยให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพในหลาย ๆ มิติมากขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างอัลกอริทึมสำหรับโดรนการเกษตร DJI รุ่น T30 เพื่อฉีดพ่นใบต้นหูกวางด้วยน้ำมันสะเดาความเข้มข้นต่ำมาก ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมแรกของโลก
อควาเทอร์รา เซ็นเตอร์ ยังจะเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตร โซเนวา อคาเดมี (Soneva Academy) สำหรับนักเรียนวัยเยาว์ผู้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และยังเป็นพื้นที่สำหรับการทำวิจัยจากทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ต้องการศึกษาในหัวข้อทางชีววิทยาที่ โซเนวา ฟูชิ สำหรับผู้เข้าพักที่อยากสัมผัสเบื้องหลังการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด สามารถดำน้ำดูแนวปะการังพร้อมไกด์จากรีสอร์ต หรือทัวร์รอบสวนของ โซเนวา ฟูชิ และชมการเปลี่ยนของเสียให้มีมูลค่าที่ Eco Centro Waste to Wealth Centre นอกจากนี้ ผู้เข้าพักของ โซเนวา ฟูชิ ยังสามารถสนับสนุนโครงการฟื้นฟูปะการัง โดยสมทบทุนสร้าง Coral Tables ในราคา 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชิ้น โดยจะมีป้ายสลักชื่อผู้สนับสนุน พร้อมรับประกาศนียบัตร และรูปถ่าย
"ที่โซเนวา ความมุ่งมั่นเพื่อสร้างความยั่งยืนของเราไม่มีวันสิ้นสุด และพวกเรายังริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอันมีค่าของเรา"
โสนุ ชิฟดาซานี ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ โซเนวา กล่าว อควาเทอร์รา เซ็นเตอร์ จะทำให้รีสอร์ตของเราสามารถมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งทางบก และทางทะเล อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความพยายามในการอนุรักษ์ของเราซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก
ความมุ่งมั่นของ โสนุ ชิฟดาซานี เป็นที่รับรู้ในระดับสากล เพราะเขาเพิ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติช (Order of the British Empire - OBE) จากสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ในฐานะผู้ริเริ่มงานบริการและท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และทำงานร่วมกับองค์กรการกุศล
Ahmad ‘Aki’ Allahgholi ผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ โซเนวา กล่าวว่า ไม่เคยเห็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีแบบนี้มาก่อนจากที่ไหนเลย ทุกอย่างรวมอยู่ที่ โซเนวา เราเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังระดับโลกมาทำงานร่วมกัน พวกเขาสามารถทำการทดลองในมหาสมุทรได้เพียงเดินออกไปไม่กี่ก้าว ผมเชื่อเลยว่า โซเนวา จริงจังกับการอนุรักษ์ปะการังอย่างถึงที่สุด