สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนเม.ย.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งได้แรงหนุนจากเทศกาลสงกรานต์ทำให้มีการเดินทางของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุนจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนเมษายน 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.9 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่งผลดีต่อธุรกิจโดยเฉพาะภาคการค้าและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ SME กำลังมีความกังวลด้านต้นทุนมากขึ้นจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนเมษายนเพิ่มขึ้น ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการและการลงทุนโดยรวม ซึ่งมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 67.0 59.6 และ 54.3 จากระดับ 64.9 57.9 และ 52.8 ตามลำดับ ขณะที่องค์ประกอบด้านต้นทุน กำไรและการจ้างงาน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 39.1 61.4 และ 50.5 จากระดับ 40.4 62.4 และ 51.0 โดยเกือบทุกองค์ประกอบค่าดัชนีฯ อยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 ค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในแต่ละองค์ประกอบในระดับที่ดี มีเพียงด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า
โดยเมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ธุรกิจภาคการค้าและภาคการบริการ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวจากกำลังซื้อและการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ภาคการเกษตรและภาคการผลิตชะลอตัวลง โดยภาคการค้า มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 54.0 จาก 52.6 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคการค้าส่งและการค้าปลีก ส่วนมากจะได้ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะร้านที่ตั้งในเขตอำเภอเมือง ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มียอดขายมากขึ้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในเทศกาลสงกรานต์ รองลงมา คือ ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 58.4 จากระดับ 57.7 ผลจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ซึ่งได้รับอานิสงส์จากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่กระตุ้นความต้องการท่องเที่ยวในเดือนเมษายนให้ปรับสูงขึ้น ส่วนภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 51.6 จากระดับ 54.4 ชะลอตัวลงจากปัจจัยของสภาพอากาศเป็นสำคัญ เนื่องจากหลายพื้นที่เผชิญกับพายุฝนฟ้าคะนอง รวมถึงสภาพอากาศที่ร้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระทบกับผลผลิตสินค้าเกษตร แต่ผู้ประกอบการเริ่มลดความกังวลทางด้านต้นทุนลงผลจากราคาปุ๋ยที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 52.9 จากระดับ 53.6 ชะลอตัวลงจากแรงงานกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลต่อปริมาณการผลิตสินค้าลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้ารวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนเมษายน 2566 พบว่า ภูมิภาคทั้งหมดมีระดับความเชื่อมั่นอยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 และปรับตัวเพิ่มขึ้น จากกำลังซื้อและการเดินทางที่มากขึ้นทั้งจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยและมีการใช้บริการต่างๆจากผู้ประกอบการ SME มากยิ่งขึ้น โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 54.7 จากระดับ 53.6 ผลจากเศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีการจัดงานส่งเสริมเทศกาลสงกรานต์ที่นานกว่าพื้นที่อื่น รองลงมาคือ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 53.3 จากระดับ 52.3 ขยายตัวจากเทศกาลสงกรานต์เป็นผลจากธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มผลิตอาหาร ร้านอาหาร รวมถึงร้านค้าในกลุ่มของฝาก บริเวณทางผ่านระหว่างจังหวัดที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 56.7 จากระดับ 56.3 ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ขยายตัวดีขึ้นโดยได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เป็นผลดีกับภาคการค้า โรงแรมที่พักและกลุ่มร้านนวดและสปา
ส่วนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 54.6 จากระดับ 54.2 เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉพาะภาคการค้าและการบริการ รวมถึงการผลิตบางสาขา เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากยางและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่นิยมใช้ในช่วงเทศกาล ภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 59.4 จากระดับ 59.1 ผลจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มาท่องเที่ยวภาคใต้ มากขึ้น ประกอบกับผลของโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ส่งผลให้กำลังซื้อในพื้นที่เพิ่มขึ้นและส่งผลดีกับกลุ่มโรงแรม ที่พัก รวมถึงร้านอาหาร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.3 จากระดับ 53.2 ทรงตัวอยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากภาคการค้าที่ปรับตัวดีขึ้นโดยได้กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากแรงงานที่กลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 53.1 แต่ยังคงอยู่ในช่วงของความเชื่อมั่น เนื่องจากการเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งราคาสินค้าต้นทุนรวมถึงค่าสาธารณูปโภคจะเริ่มลดลง
นอกจากนี้ สสว.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับความต้องการรับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากภาครัฐ พบว่า ความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด คือ ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะปัญหาด้านอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากสำหรับธุรกิจในภาคบริการ และต้องการให้ควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ลดอัตราการเก็บภาษี รองลงมา คือ ด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยต้องการให้ขยายโครงการกระตุ้นกำลังซื้อที่เคยดำเนินการแล้วอีกครั้ง อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น ด้านการตลาดและการพัฒนาธุรกิจ ต้องการให้ส่งเสริมด้านการทำการตลาด/การโฆษณา ส่งเสริมทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เป็นต้น