เส้นทางสู่อำนาจของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะก้าวไปไกลถึงเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” หรือไม่ กำลังถูกจับตาและเฝ้าลุ้นระทึกจากบรรดากองเชียร์
แม้ตลอดห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “พรรคก้าวไกล” ในฐานะพรรคชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่ง ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก อย่างต่อเนื่อง และสามารถนำ “313 เสียง” จาก “7 พรรคการเมือง” ที่ประกาศตัวร่วมขบวนเป็นรัฐบาลใหม่ ได้ลงนามเอ็มโอยู พร้อมเดินหน้าภารกิจ 23 ข้อตกลงร่วมกันในเอ็มโอยู เมื่อได้เป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการก็ตาม
แต่การที่พรรคก้าวไกลมีเสียงสนับสนุนให้พิธา เป็นนายกฯ 313 เสียงนั้นยังไม่เพียงพอตามกรอบรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเอาไว้แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการเสนอชื่อในที่ประชุมรัฐสภา จะต้องได้เสียงโหวตหนุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 376 ดังนั้น พิธาจึงต้องได้เสียงโหวตจาก ส.ว.มากกว่า 63 เสียง จึงจะทำให้บรรลุเป้าหมาย
การได้เสียงจากส.ว. ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดายเพราะอย่าลืมว่า พรรคก้าวไกล กับส.ว.คือ “คู่ปรับ” กันมาตลอด 4ปีที่ผ่านมา ความพยายามของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ที่จะ “ปิดสวิตช์ส.ว.” คือเกมอันตรายที่ทำให้ต่างฝ่าย ต่างยืนประจันหน้ากันมาโดยตลอด
ดังนั้นเมื่อวันนี้พรรคก้าวไกลต้องการแรงสนับสนุนจากส.ว. เพื่อส่ง พิธา ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 จึงเป็ “โจทย์” ที่ยากเย็น อย่างที่เห็น
แม้ในเอ็มโอยู ร่วมรัฐบาลของทั้ง 8พรรคการเมืองที่ผ่านมา จะไม่บรรจุวาระเรื่องร้อน คือนโยบายแก้ไขมาตรา 112 อันเป็น “เงื่อนไข” ที่ทำให้ฝ่ายส.ว. “ต่อต้าน” อย่างสุดตัว เพราะรับไม่ได้ที่จะไปแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะบอกว่า แก้ไขหรือยกเลิกก็ตาม
เมื่อเอ็มโอยูไม่มีวาระเรื่องมาตรา 112 แล้วก็น่าที่จะทำให้หนทางของพิธา ราบรื่นมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง กลับพบว่ายังมีส.ว.จำนวนไม่น้อยที่อยู่ในกลุ่ม “ยังไม่ตัดสินใจ”
เพราะเป็นห่วงว่า หากโหวตให้พิธา ไปแล้ว เขาจะพ้นบ่วงคดีความกรณีถือครองหุ้นสื่อ ที่มีการร้องเรียน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำการตรวจสอบอยู่ในเวลานี้หรือไม่ ?
ประเด็นการถือหุ้นไอทีวีของ พิธา ถูกจับตามาโดยตลอด ทั้งจากสื่อในและต่างประเทศ ว่าแม้พรรคก้าวไกล จะชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ยังต้องลุ้นว่าจะพลิกสถานะไปสู่ “รัฐบาล” ได้จริงหรือไม่ หรือจะมีเหตุที่ทำให้พิธา ต้อง “ตกม้าตาย” ด้วยประเด็นข้อกฎหมาย จนไปไม่ถึงทำเนียบรัฐบาลหรือไม่ ?!
ความกังวลประเด็นดังกล่าว ถูกจัดเอาไว้ให้หนึ่งในหลายเงื่อนไขว่า ส.ว.จะรอฟังความชัดเจนจากกกต.ที่จะต้องมีการพิจารณาคดีถือหุ้นสื่อไอทีวีของพิธา หลังการเลือกตั้งจบลง ขณะที่ พิธาเอง ได้แสดงความมั่นใจมาตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง14 พ.ค.แล้วว่า ไม่มีความกังวล
โดยพิธา ยืนยันว่า ไม่ใช่หุ้นของตนเอง แต่เป็นของมรดก ตนมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษา พร้อมทั้งแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปนานแล้ว และมองว่าเรื่องนี้เป็นเจตนา “สกัด” พรรคก้าวไกลและตัวเขา ไม่ให้ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศมากกว่า
ปมประเด็นกรณีการถือครองหุ้นไอทีวีของพิธา ขณะนี้คำร้องที่ยื่นโดย “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ดำเนินการไว้ ก่อนการเลือกตั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เรืองไกร เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อกกต. โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องต่อกกต.เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพิธา และสมาชิกพรรคก้าวไกล
เรืองไกร ได้ให้สัมภาษณ์พร้อมทั้งนำหลักฐานมาแสดงถึงการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้นของพิธา ซึ่งนำมาจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท ITV และมั่นใจว่างานนี้ “รอดยาก” เพราะข้อมูลที่ได้มานั้นก็มาจากคนในไอทีวีนั่นเอง และเมื่อนำข้อมูลไปให้กรมธุรกิจการค้าตรวจสอบ ก็พบว่า มีชื่อพิธา ถือหุ้นอยู่จริง ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา98 (3) กรณีห้ามไม่ให้ส.ส.ถือครองหุ้นสื่อ
ประเด็นการถือครองหุ้นไอทีวีของพิธา หากมีความผิดจริงเมื่อมีการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อกกต.ส่งเรื่องไปแล้วนั้น “ผลกระทบ” ย่อมไม่ได้เกิดเฉพาะตัว พิธาเท่านั้นเมื่อประเด็นที่เรืองไกร ร้องต่อไปอีกช็อตว่า เมื่อพิธา “ขาดคุณสมบัติ” แต่ได้เซ็นรับรองการสมัครส.ส. เกือบ 400 เขตและส.ส. บัญชีรายชื่อ ของพรรคก้าวไกล จะเกิดสึนามิทางการเมืองตามมาด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ดี “คดีหุ้นไอทีวี” ที่กำลังเป็น “เผือกร้อน” สำหรับพิธา ว่าที่นายกฯคนที่ 30 เช่นนี้ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องมาตกม้าตายด้วยกรณีเรื่องการถือครองหุ้น
โดยกรณีของธนาธร มีลักษณะคล้ายกัน ในปี 2562 มี “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของ ธนาธรว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
ต่อมากกต.ได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย และมีคำชี้ขาดออกมาในวันที่ 20 พ.ย.62 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ธนาธร สิ้นสภาพ ส.ส.จากเหตุถือหุ้นใน บ.วีลัค มีเดียจำกัดโดยวันที่พรรคอนาคตใหม่ ส่งชื่อธนาธร เป็นผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ยังคงถือหุ้นวีลัค ฯอยู่
แต่อาจแตกต่างกันตรงที่ ความผิดของธนาธร ทำให้เขาต้องออกจากกระดานการเมืองในปี 2562 และขณะที่พรรคอนาคตใหม่เป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ทว่าวันนี้ การชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธา ที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้านี้ พิธา น่าจะถือ “เดิมพัน” ที่สูงลิบลิ่วมากกว่าธนาธร หลายเท่านัก
เพราะหากแพ้ต่อคดีความครั้งนี้ อาจทำให้ “พังทั้งกระดาน” เส้นทางสู่ “นายกฯคนที่ 30” ที่ไม่มี พิธา และโอกาสที่พรรคก้าวไกล จะเดินไปถึงทำเนียบรัฐบาล ย่อมหลุดลอยไปต่อหน้า !