องคมนตรีติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร.9 สนองพระราชปณิธาน ร.10 สืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายวิกรม คัยนันทน์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการอาคารอัดน้ำบ้านนาแซะพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ในการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอาคารอัดน้ำบ้านนาแซะพร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2550 เพื่อช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 7 9 และ 10 ตำบลบ้านนา ซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรในหน้าแล้ง
ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎร หมู่ที่ 7 และ 10 ตำบลบ้านนา และบริเวณใกล้เคียง จำนวน 200 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน จำนวน 300 ไร่ หน้าแล้ง 135 ไร่ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งส่งผลให้ราษฎรมีรายได้ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้จัดตั้ง “กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานนาแซะทิพย์ธารา” มีสมาชิก จำนวน 195 คน
สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ร่วมดำเนินงานในการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยในปี 2567 จะดำเนินปรับปรุงงานป้องกันตลิ่งด้านเหนือน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ความยาวด้านละ 80 เมตร ขุดลอกตะกอนทรายด้านหน้าอาคาร และขุดลอกลำคลอง ความยาว 50 เมตร ขุดขยายพื้นที่รับน้ำด้านเหนือน้ำบริเวณตลิ่งฝั่งขวา และปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น ( Spillway) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของราษฎรให้ยั่งยืนตลอดไป ทั้งนี้ องคมนตรี และคณะฯ ร่วมกันหาแนวทางในการจัดหาน้ำต้นทุนให้แก่โครงการฯ แก้ปัญหาในหน้าแล้งหากฝนทิ้งระยะเป็นเวลานาน
จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปเยี่ยมบ้านนายภูมิภัฒน์ ศรีภีรกานต์ บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองชุมพร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฯ โดยในพื้นที่มีการขุดบ่อน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง และยังเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้เห็นประโยชน์ของการมีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เอง
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.