สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
ด้วยพุทธคุณปรากฏเป็นเลิศทั้งแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี จนมีผู้กล่าวขานยกย่องให้เป็น “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง” เลยทีเดียว
พระท่ากระดาน 1 ใน 5 พระยอดขุนพลยอดนิยมของประเทศไทย มีการค้นพบที่จังหวัดกาญจนบุรีจากหลายๆ กรุ ชื่อ “พระท่ากระดาน” ตั้งตามชื่อวัดท่ากระดาน หรือวัดกลาง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญ 1 ใน 3 วัดของ “เมืองท่ากระดาน” เมืองเก่าแก่เมืองเดียวริมลำน้ำแควใหญ่ที่มีความสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคียงคู่กับเมืองกาญจนบุรีเก่าและเมืองไทรโยค คือเป็นเมืองที่มีเจ้าปกครอง และยังเป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องสู้รบกับกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ในสงครามทุกๆ ครั้ง ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีวัดสำคัญ 3 วัด อันได้แก่ วัดเหนือ (วัดบน) วัดกลาง (วัดท่ากระดาน) และวัดล่าง ในราวปี พ.ศ.2495 ได้มีการขุดหาโบราณวัตถุครั้งใหญ่ในบริเวณดังกล่าวและได้ค้นพบพระพิมพ์เนื้อชินตะกั่วสนิมแดงที่วัดทั้งสามนี้ โดยเฉพาะที่วัดท่ากระดาน ปรากฏพระที่มีสนิมแดงงามจัดและปิดทองมาแต่ในกรุทุกองค์ กอปรกับวัดนี้อยู่ส่วนกลางของเมืองท่ากระดานเก่าพอดี จึงตกลงเรียกขานพระพิมพ์นี้ว่า “พระท่ากระดาน” และด้วยวัดทั้งสามอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ นักนิยมสะสมพระเครื่องจึงมักเรียกกันว่า “พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์”
สันนิษฐานว่า การจัดสร้าง “พระท่ากระดาน” น่าจะสร้างกันที่บริเวณหน้าถ้ำทางตอนเหนือของเมืองท่ากระดานเก่าขึ้นไปตามลำน้ำแควใหญ่ ซึ่งเดิมเป็นวัดเก่าแก่ จากการประมวลหลักฐานต่างๆ อาทิ ศาสนวัตถุที่ปรักหักพังและซากพระเจดีย์ในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก มีวัตถุโบราณ เช่น บาตรขนาดเขื่อง เตาดินเก่าๆ หลายเตา ที่สำคัญ ปรากฏสนิมแดงงดงามมากตกอยู่เรี่ยราดบริเวณเตา และยังพบพระท่ากระดานทุกพิมพ์อีกด้วย และเนื่องจากหน้าถ้ำมีต้นลั่นทมขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง จึงเรียกพระท่ากระดานที่พบในบริเวณนี้ว่า “พระท่ากระดาน กรุถ้ำลั่นทม”
นอกจากนี้ ยังมีการพบพระท่ากระดานตามบริเวณต่างๆ โดยรอบ แต่มีจำนวนไม่มากนัก อาทิ วัดบ้านนาสวน (วัดต้นโพธิ์), วัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว), วัดเทวสังฆาราม, วัดท่าเสา, บริเวณ ต.ลาดหญ้าใกล้ค่ายทหารกองพลฯ และบริเวณถ้ำในเขตอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งแต่ละที่มีจำนวนพระไม่มากนัก ในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องจึงแบ่งแยกพระท่ากระดานออกเป็น 2 กรุ คือ “พระกรุเก่า” เป็นพระที่ค้นพบที่กรุศรีสวัสดิ์ และกรุถ้ำลั่นทม ส่วนพระที่พบในบริเวณนอกเหนือจากนี้จะเรียกว่า “พระกรุใหม่”
พระท่ากระดานเป็นพระที่สร้างในสมัยอู่ทอง ในราวปี พ.ศ.1800 – 2031 เป็นพระเครื่องประติมากรรมแบบแบน นูนสูง คือ มีภาพด้านหน้าด้านเดียวและเน้นส่วนนูนสูงและเว้าลึก ส่วนด้านหลังแบนราบ พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ขัดราบ มีสังฆาฏิแบบสี่เหลี่ยมกว้าง หนา และยาวจรดลงมา ฐานหนาที่เรียกว่า “ฐานสำเภา” เค้าพระพักตร์เคร่งขรึมน่าเกรงขาม ปรากฏพระเนตร พระกรรณ พระนาสิก และพระโอษฐ์ชัดเจน พระหนุแหลมยื่นออกมา แข้งเป็นสัน พระเกศยาว ลักษณะเหมือนพระอู่ทองหน้าแก่ อันเป็นพุทธศิลปะสมัยลพบุรี และด้วยอายุการสร้างที่เกินกว่า 500 ปี อาจถูกทับถม ทำให้พระเกศบางองค์อาจชำรุดหรือคดงอ พระเกศของพระท่ากระดานจึงมีหลายลักษณะ อาทิ เกศตรงยาว เรียกว่า “เกศตรง” ส่วนที่บิดงอคดไปคดมา เรียก “เกศคด” หรือบางองค์หักไปหรือเหลือสั้นก็เรียกว่า “เกศบัวตูม”
การที่พระท่ากระดานเป็นพระชินตะกั่ว เมื่อผ่านกาลเวลาจึงเกิด “สนิมแดง” โดยเฉพาะในส่วนที่นูนจะมีลักษณะแดงเข้ม ทำให้พระท่ากระดานบางองค์บริเวณลูกตาทั้งสองข้างซึ่งเป็นส่วนที่นูนมากจะมีสีแดงเข้ม จนมีคำเรียกติดปากว่า “พระท่ากระดาน ต้องเกศคด ตาแดง” ซึ่งความจริงเป็นเพียงบางองค์เท่านั้น นอกจากสนิมแดงแล้วยังเกิด “สนิมไข” ด้วย สนิมแดงและสนิมไขนี้จะขึ้นปกคลุมองค์พระอยู่อย่างหนาแน่น หรือในบางองค์ที่แก่ชินอาจเกิดเป็นเกล็ดกระดี่แซมไขขาว ทำให้ในอดีตนักนิยมสะสมจึงมักนำเอาไปล้างผิวเพื่อให้เห็นสีสนิมแดงอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันนิยมความบริสุทธิ์ขององค์พระเดิมที่ปราศจากการล้างหรือตกแต่งใดๆ มากกว่า
พระท่ากระดาน นอกจากจะเป็นพระยอดขุนพลซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว ด้วยพุทธคุณปรากฏเป็นเลิศทั้งแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี จนมีผู้กล่าวขานยกย่องให้เป็น “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง” เลยทีเดียว ดังนั้น การเช่าหาของแท้ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักและสนนราคาค่อนข้างสูง จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ทั้งตรวจสอบสภาพสนิมไข สนิมแดง คราบปูนแคลเซี่ยม รวมถึงขนาดและเอกลักษณ์แม่พิมพ์สำคัญๆ นอกจากนี้ พระท่ากระดานส่วนใหญ่มีการลงรักปิดทองมาแต่ในกรุ จึงต้องพิจารณาลักษณะของรักเก่าและทองเก่าด้วยครับผม