ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
การมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว แม้จะเป็นอยู่อย่างยากลำบาก แต่ก็ไม่เสี่ยงและอยู่รอดได้
“นารีสมร” หรือที่เพื่อน ๆ เรียกสั้น ๆ ว่า “รี” เป็นคนที่เรียกได้ว่าหน้าตาดีมาก ๆ แต่ก็อยู่เป็นโสดมาตลอดชีวิต เธอมีผู้ชายมาจีบมากมายตั้งแต่ที่ยังเป็นสาวรุ่น และแม้ว่าจะอยู่เกษียณจากราชการแล้ว ก็ยังมีคนมาคอยเอาอกเอาใจอยู่ไม่ขาด เผื่อว่าเธอจะตกลงปลงใจและมาใช้ชีวิตคู่กันในบั้นปลายนั้น
นารีสมรเกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง พ่อเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีฐานะตำแหน่งที่ดีพอควร ทำให้แม่ที่เคยเป็นลูกจ้างบริษัทได้ลาออกมาทำหน้าเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว เธอมีพี่อีกสามคน โดยเธอเป็นคนสุดท้อง ทุกคนเรียนจบมหาวิทยาลัย และมีหน้าที่การงานที่ดีทุกคน พี่สาวคนโตไม่ได้แต่งงาน แต่ก็รับเอาเด็กมาอุปการะ 2 คน ส่งเสียให้เรียนและเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนยามเหงา รวมถึงตั้งใจว่าจะให้ไว้ดูแลในยามชราและเจ็บไข้นั้นด้วย แต่เด็กหญิงคนแรกที่เอามาเลี้ยงดูพอเรียนจบมัธยมต้นแล้วก็ไปหายออกจากบ้านไป มาทราบภายหลังว่าแอบออกไปทำงานที่โรงงานในจังหวัดระยองกับเพื่อน ส่วนเด็กหญิงอีกคนตอนนี้เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้ว ซึ่งพี่สาวเธอก็หวังว่าจะไม่หนีไปไหน และจะได้มีคนอยู่ด้วยไปจนตาย สำหรับพี่สาวคนรองก็แต่งงานแล้วก็หย่ามาสองครั้ง มีลูกกับสามีคนแรกคนหนึ่ง เป็นเด็กชายซึ่งตอนนี้ก็ทำงานและแต่งงานแยกไปอยู่อีกบ้านหนึ่งแล้ว ส่วนพี่ชายคนที่ติดกับเธอก็ทำงานเป็นศิลปิน แยกไปอยู่ที่ต่างจังหวัดตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ทราบว่ามีเมียอยู่บ้าง 2-3 คน แต่อยู่กันไม่ยืด และทุกวันนี้พี่ชายของเธอก็ยังโสด
พ่อแม่ของเธอตายไปเมื่อ 4 และ 5 ปีก่อนตามลำดับ โดยพ่อเป็นโรคปอดเรื้อรังมานาน ส่วนแม่ก็มีโรคเบาหวานและหัวใจ ตอนนี้ในบ้านพื้นที่ 100 ตารางวา มีบ้านปลูกอยู่สองหลัง หลังใหญ่ที่สร้างมาแต่ครั้งพ่อและแม่ก็มีเธอและพี่สาวคนรองอาศัยอยู่ ส่วนหลังเล็กที่สร้างใหม่เป็นบ้านที่พี่สาวอาศัยอยู่กับเด็กหญิงที่รับเอามาเลี้ยง บ้านนี้จึงมีผู้อยู่อาศัยเป็นผู้หญิงทั้งหมด สามคนนั้นเกษียณแล้วและเป็นโสดทั้งหมด
นารีสมรเพิ่งเกษียณเมื่อปีกลาย ตำแหน่งหลังสุดคือผู้ตรวจราชการกระทรวง ซึ่งก็นับว่าดีกว่าพี่สาวอีก 2 คนที่เกษียณแค่ซี 8 ทั้งคู่ เธอจึงเป็นคนเดียวของบ้านที่ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ที่ทุกคนในบ้านก็ภาคภูมิใจ ซึ่งก่อนที่พ่อแม่จะตายเมื่อเธอได้สายสะพายเส้นแรก ทั้งพ่อกับพี่สาวก็พากันแต่งชุดเต็มยศไปถ่ายรูปกับเธอที่ได้รับสายสะพายนั้นด้วย พ่อกับแม่นั้นมีที่ดินสะสมไว้บ้าง ซึ่งก็ได้แบ่งให้กับลูกทั้งสี่คนเป็นที่เรียบร้อย โดยของพี่ชายเธอนั้นได้ขายไปเรียบร้อย เพื่อเอาไปปลูกบ้านอยู่ที่ต่างจังหวัด ส่วนของเธอกับพี่สาวอีกสองคนนั้นได้ให้คนเช่า ซึ่งก็พอมีรายได้อยู่พอควร และเมื่อรวมกับเงินบำนาญก็ทำให้พี่น้องทั้งสามคนมีชีวิตที่พอสบาย แต่ก็อาจจะเป็นปัญหาเพราะทั้งสามคนไม่มีทายาท แม้ว่าพี่สาวคนโตจะรับเอาเด็กมาเลี้ยงดู แต่ก็ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งนารีสมรก็ไม่ทราบว่าพี่สาวทั้งสองเขียนพินัยกรรมหรือจัดการมรดกในส่วนของคนทั้งสองนั้นไว้อย่างไร สำหรับตัวเธอก็ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดการอะไร แต่ก็มีความคิดไว้ว่าอาจจะมอบถวายวัดหรือองค์กรการกุศลที่เธอสนใจอยู่ 2-3 แห่งนั้นต่อไป
ผมรู้จักกับนารีสมรในคราวที่ได้ไปทัวร์ยุโรปเมื่อต้นปีนี้ ทัวร์นี้เป็นคณะทัวร์ที่จัดโดยบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง นารีสมรไปกับเพื่อน 2 คนที่เพิ่งเกษียณจากราชการมาด้วยกัน ส่วนผมก็ไปกับภรรยาเพื่อไปฮันนีมูนเป็นรอบที่สอง หลังจากที่ได้มาเที่ยวยุโรปเพื่อฉลองแต่งงานครั้งแรกเมื่อ 30 กว่าปีก่อนนั้น ผมได้ทราบว่านารีสมรเป็นรุ่นน้องในคณะที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน เราแอดไลน์ไว้ติดต่อกันระหว่างที่ท่องเที่ยวเพื่อแลกเปลี่ยนรูปถ่ายที่ช่วยกันถ่าย รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนหลาย ๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องการบ้านการเมือง ที่ผมมาทราบว่าเธอเป็น “คอการเมือง” ที่เข้มข้นเป็นอย่างยิ่งด้วยคนหนึ่ง
เธอบอกว่าเธอชอบดูรายการวิเคราะห์การเมืองในโทรทัศน์หลาย ๆ ช่อง อีกทั้งในระยะหลังก็ได้ไปติดตามทางช่องโซเชียลอีกบางช่อง ได้เคยเจอผมไปออกรายการเหล่านั้นอยู่บางครั้ง ดังนั้นในไลน์ที่เราติดต่อกันจึงมีแต่เรื่องการเมือง ซึ่งก็น่าประหลาดใจว่าเธอมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ลึกซึ้ง สมกับที่จบการศึกษามาทางด้านรัฐศาสตร์ แม้ว่าในหน้าที่การงานในหน่วยงานของเธอจะไม่ได้ทำงานที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์โดยตรง แต่เธอก็แสดงความรู้และความเห็นทางการเมืองต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ จนคนที่เป็นครูบาอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์อย่างผมต้องทึ่ง รวมถึงมีความสงสัยว่าเธอเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ นั้นได้อย่างไร
บางทีเธอก็นัดทานข้าวกับเพื่อน ๆ ซึ่งเพื่อนเหล่านี้ก็สนใจการเมืองมาก ๆ เช่นกัน แล้วเธอก็ให้ผมไปช่วยวิเคราะห์ในการเมืองหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะในช่วงก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา แทบจะเจอกันทุกสัปดาห์ เมื่อคุยเรื่องการเมืองเสร็จแล้ว ผมก็อดถามในเรื่องชีวิตส่วนตัวของเธอไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เธอครองความเป็นโสด ซึ่งแรก ๆ เธอก็ระมัดระวังที่จะตอบ เพราะนึกว่าผมคงจะมาก้อร่อก้อติกเข้ามาสนิทสนมให้ลึกซึ้งแบบผู้ชายหลาย ๆ คนที่เธอเจอ แต่เมื่อผมบอกว่าผมสนใจในชีวิตของเธอจริง ๆ เพราะมีหลาย ๆ อย่างที่ไม่เหมือนผู้หญิงในวัยนี้โดยทั่วไป รวมถึงที่ผมขออนุญาตด้วยว่าผมเอาไปเขียนเป็น “บทเรียนชีวิต” ให้กับผู้อ่านในคอลัมน์ที่ผมเขียนอยู่นั้นด้วย เธอจึงยินยอมและขอให้ไม่เปิดเผยอะไรที่เป็นเธออย่างชัดเจน ทั้งในชื่อของเธอ หน้าที่การงาน และผู้เกี่ยวข้อง
เธอบอกว่า เธอไม่ใช่คนที่น่าสนใจอะไร เพราะเธอออกจะเป็นคนที่ “มีชีวิตที่กลัวไปหมด”
การที่เธอไม่แต่งงานเพราะเธอมีความกลัวในการมีชีวิตครอบครัวนั่นเอง รวมถึงที่เธอกลัวไปในทุก ๆ เรื่อง จนหลาย ๆ เรื่องนั้นก็ส่งผลต่อความก้าวหน้าและอนาคตต่าง ๆ ของเธอ
เธอเป็นลูกคนสุดท้อง ตั้งแต่ที่จำความได้ก็อยู่ในอ้อมอกของแม่มาโดยตลอด จนเหมือนว่าเธอไม่เคยห่างแม่เลยแม้แต่เพียงก้าวเดียว
เมื่อตอนเธอเล็ก ๆ ที่บ้านยังมีคนช่วยแม่ทำงานบ้าน ที่เรียกกันทั่ว ๆ ว่าคนรับใช้ แต่ที่บ้านของเธอเรียกว่าพี่เลี้ยง ซึ่งมีอยู่ 2 คน เพราะที่บ้านมีเด็ก ๆ ถึง 4 คน พี่เลี้ยงนี้อยู่กันมาจนเธอเข้ามหาวิทยาลัย พอดีกับที่พ่อของเธอก็เกษียณ จึงเลิกจ้างพี่เลี้ยง เพราะลูก ๆ โตพอจะดูแลตัวเองได้หมดแล้ว รวมถึงที่ช่วยกันทำงานบ้าน โดบมีพ่อนั่นแหละที่หันมาใช้เวลาหลังเกษียณแจกจ่ายให้ลูก ๆ ทุกคนในบ้านช่วยกันทำ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นงานที่แม่เคยฝึกสอนให้ช่วยทำมาก่อนแล้ว
เธอจำได้ว่าเวลาไปไหนมาไหนจะมีพี่เลี้ยง 1 คน เดินตามเธอไปในที่ต่าง ๆ ด้วยเสมอ แม้แต่เวลาที่เธอเข้าห้องน้ำในห้างหรือที่สาธารณะ พี่เลี้ยงก็จะต้องเข้าไปด้วย ซึ่งเธอก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร แต่ถ้าไม่มีพี่เลี้ยงมาคอยตามเสียอีก นั่นแหละเธอจึงจะรู้สึกประหลาด ไม่สบายใจ เพราะไม่กล้าทำอะไรตามลำพัง
เธอเคยสงสัยมาก ๆ เสมอมาว่า ทำไมเธอต้องกลัวทุกสิ่งทุกอย่างถึงขนาดนั้น จนถึงขั้นอยู่ตัวคนเดียวหรือไปไหนมาไหนตามลำพังไม่ได้ ซึ่งกว่าเธอจะรู้คำตอบนั้นก็อีกหลายปีต่อมา
บางทีความกลัวก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ ทั้งยังอาจจะเป็นเพื่อนกับมันได้อย่างสนิทสนมอีกด้วย