วันที่ 25 พ.ค.2566 ที่สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังลงพื้นที่ประชุมติดตามผลการดำเนินงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สามารถช่วยประชาชนในการรับจำนำเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายยามจำเป็นได้ ปัจจุบันมี 21 แห่ง ใน 20 เขต มีประชาชนใช้บริการประมาณ700,000 คนต่อปี ล่าสุดปี 2566 มีผู้ใช้บริการประมาณ 400,000 คน มียอดจำนำปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ผลประกอบการอยู่ในระดับพอไปได้ ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.ขยายการเข้าถึงของประชาชนให้ง่ายขึ้น ขยายจำนวนสาขาในแหล่งชุมชนมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงของประชาชน 2.ไม่หวังผลกำไร เพราะถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีความลำบาก 3.บริหารเงินสดที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ส่วนเรื่องตลาดในความดูแลของกรุงเทพมหานครต้องพัฒนาปรับปรุง ปัจจุบันมี 12 แห่ง โดยมีตลาดหลัก ประกอบด้วย 1.ตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งกทม.เช่าพื้นที่ต่อจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561 สัญญา 10 ปี 2.ตลาดมีนบุรี 3.ตลาดสนามหลวงสอง 4.ตลาดชุมชน 9 แห่ง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่าตลาดต้องคำนึงถึงสุขลักษณะ ซึ่งบางแห่งยังบกพร่องอยู่ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ความสะอาด ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน รวมถึงควบคุมกฎระเบียบต่างๆเช่น ทางเดินปลอดภัย มีความสะอาด การตั้งแผงต่างๆ ในพื้นที่กำหนด ควรปรับปรุงให้เป็นตลาดต้นแบบ

 

ทั้งนี้ ตลาดที่ต้องดำเนินการเข้มข้น คือ ตลาดนัดสวนจตุจักร จากการเช่าพื้นที่ต่อจากการรถไฟฯ ทำให้เกิดภาระหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ปัจจุบันจึงเร่งรัดทำสัญญากับการรถไฟฯ เพื่อชำระหนี้สินที่เกิดขึ้นอีกส่วนคือ ตลาดบางแคภิรมย์ ซึ่ง กทม.เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ วัตถุประสงค์ย้ายตลาดบางแคเดิมมาอยู่ที่ตลาดบางแคภิรมย์ แต่ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการน้อย เนื่องจากเดินทางไม่สะดวก ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 300,000 บาท ปัจจุบันผลประกอบการยังขาดทุนอยู่

 

โดยภาพรวม มุ่งเน้นให้ตลาด กทม.ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ประชาชน ขณะเดียวกันตลาดต้องมีการบริหารเชิงรุกทัดเทียบเอกชน โดยเน้นคุณภาพและความสะอาดเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน นอกจากนี้ยังมีสำนักงานที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานต่อไป ซึ่งทั้งสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร และสำนักงานที่อยู่อาศัย เป็นหน่วยงานพาณิชย์ของ กทม.

 

สำหรับกรณีที่จอดรถตลาดนัดสวนจตุจักรที่เคยเกิดปัญหา ปัจจุบันสามารถจอดได้เวลา 06.00 น. ถึง 12.00 น. เพื่อให้ผู้ค้านำของมาลงขาย หลังจากเวลาดังกล่าวห้ามจอด เพื่อให้ประชาชนเดินได้สะดวก จึงมีปัญหากับผู้ค้าด้านในตลาด ที่ต้องการให้ลูกค้าขับรถเข้าไปถึงร้านตนซึ่งตั้งด้านในของตลาดได้ จากการพิจารณาของคณะกรรมการ สรุปว่า สามารถนำรถเข้าไปได้หลังเวลา 18.00 น.เท่านั้น ส่วนเวลา 12.00 น. ถึง 18.00 น. ห้ามนำรถเข้า อย่างไรก็ตาม ได้ให้นโยบายว่า ต้องดูแลผู้ค้าด้านในตลาดด้วย เช่น ปรับทางเดินจากถนนด้านนอกเข้าไปด้านในตลาดได้อย่างสะดวกเพื่อกระจายคนไปทั่วพื้นที่ตลาดเท่าเทียมกัน และกำลังพิจารณาขยายถนนเข้าด้านในตลาดให้กว้างขึ้น

 

สำหรับแนวทางบริหารตลาดนัดสวนจตุจักร ประกอบด้วย 1.จากการสำรวจ พบว่า อาคารโดยรอบพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักรสามารถจอดรถได้ 5,000 คัน ซึ่งสำนักการตลาดได้ติดต่อประสานเพื่อให้ประชาชนหรือผู้ค้านำรถไปจอดได้ ในราคาที่ตกลงไว้ 2.พยายามเปิดทางจากรถไฟฟ้าเพื่อให้เดินเข้าตลาดโดยง่าย 3.ขยายทางเข้า 12 เส้นทางสู่พื้นที่ด้านในตลาด เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ค้าตั้งแผงเกินพื้นที่ทางเท้า ทำให้ทางแคบ ปัจจุบันดำเนินการปรับเปลี่ยนแล้วทั้งนี้ ในอนาคตจะปรับพื้นที่บริเวณหอนาฬิกาให้เป็นพื้นที่โล่ง สามารถทำกิจกรรมได้ และปรับพื้นที่บริเวณประตูทางเข้าด้านถนนกำแพงเพชรให้เป็นที่จอดรถทัวร์ ขนส่งสาธารณะ รวมถึง การจัดระเบียบโดยรอบตลาดนัดสวนจตุจักรการปรับปรุงห้องน้ำ ปรับปรุงเพิ่มเติมกล้องวงจรปิด ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยเจ้าของพื้นที่