ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ก่อนการประชุมกลุ่มประเทศ G-7 อันประกอบไปด้วยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นนั้น สหราชอาณาจักรได้ประกาศที่จะจัดส่งขีปนาวุธ Storm Shadow พร้อมระบบไปช่วยยูเครนในการเพิ่มประสิทธิภาพในการรบ แม้ว่าขีปนาวุธรุ่นนี้จะไม่ใช่รุ่นที่มีประสิทธิภาพก้าวหน้าสุด ในลำดับชั้นของขีปนาวุธ

ทว่ามอสโกก็ออกมาโจมตีว่าเป็นการคุกคามรัสเซีย ที่สำคัญขีปนาวุธชนิดนี้มีวิถีทำการไกลเพียง 250-270 กม. อันไม่เกินพิกัดที่นาโตขีดเส้นไว้ไม่ให้เกิน 300 กม. เพราะไม่ต้องการให้ยูเครนใช้ในการโจมตีเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย

ทั้งนี้ขีปนาวุธชนิดนี้มีเทคโนโลยีที่จะลดการตรวจจับของเรดาร์ความเร็วก็ต่ำกว่าเสียง ด้วยเครื่องเทอร์โบเจ็ต ความเร็วขนาดนี้ประมาณว่าจะถึงเป้าหมายไกลสุดใน 20-30 นาที

แต่ที่รัสเซียกังวล คือ ขีปนาวุธชนิดนี้สามารถติดหัวรบที่มีประสิทธิภาพสูง ระเบิดรุนแรง สามารถทำลายโครงสร้างอาคารป้อมปราการที่มั่นคงของคลังอาวุธ และสถานที่ทางทหารที่ปกป้องอย่างแข็งแรงได้

ทั้งนี้ขีปนาวุธชนิดนี้เป็นอาวุธที่ยิงจากเครื่องบิน ซึ่งทางยูเครนสามารถดัดแปลงเครื่องบินมิกก์ 29 ให้ใช้งานได้ดีโดยการสนับสนุนจากโปแลนด์ โดยเฉพาะอาจขึ้นบินจากดินแดนของโปแลนด์ หรือสนามบินยูเครนติดชายแดนได้

ปัญหามันอยู่ตรงที่สหราชอาณาจักรอ้างว่ายูเครนรับรองว่าจะไม่ใช้ขีปนาวุธ Storm Shadow โจมตีเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ายูเครนจะปฏิบัติตาม และพื้นที่ทางใต้ของรัสเซียก็จะอยู่ในฐานะเสี่ยงภัย เช่น แคว้นเคิสท์ เบลกูรอด โวโลเนทซ์ และไครเมีย ซึ่งหลายที่นอกจากคลังเก็บอาวุธ คลังน้ำมันยังอาจเป็น  ชุมชนหนาแน่น ดังที่ยูเครนใช้โดรนโจมตี หรือส่งกำลังจรยุทธ์ไปโจมตีพลเรือนมาแล้ว รวมทั้งการก่อวินาศกรรม

อีกประการที่ทำให้รัสเซียถือเป็นภัยคุกคาม คือ การเริ่มเปิดเกมส่งอาวุธที่รุนแรงขึ้นของสหราชอาณาจักร อาจเป็นสัญญาณให้ประเทศนาโตโดยเฉพาะสหรัฐฯ จัดส่งขีปนาวุธเหนือขั้นกว่า Storm Shadow  เช่น ATACMS เทียบเท่าโทมาฮอก หรือขีปนาวุธกาหลิบ และอิสกันเดอร์เอ็ม ไปช่วยยูเครน เหมือนกับการเปิดเกมส่งรถถังชาเลนเจอร์-2 ไปให้ ทำให้สหรัฐฯ ประกาศส่งรถถังอับราม 1 และ 2 และยุโรป โดยเยอรมนีก็ประกาศยอมส่ง Leopard1 และ 2 ไปร่วม หรือยอมให้พันธมิตรส่งไปได้

แม้ในความเป็นจริงจะมีการส่งไปจำนวนน้อยไม่เป็นไปตามที่ยูเครนต้องการ และสหรัฐฯก็ยังไม่จัดส่งรถถังอับราม แต่ส่งยานยนต์หุ้มเกราะแบรดลีร์ไปก่อนก็ตาม

รัสเซียจึงมองว่ามันคือสัญญาณที่สหราชอาณาจักรเปิดตัวส่งขีปนาวุธ Storm Shadow เพื่อให้สหรัฐฯ ส่ง ATACMS หรือให้สมาชิกนาโตอื่นๆส่งขีปนาวุธในทำนองเดียวกันให้ยูเครน ซึ่งยูเครนอาจใช้โจมตีเข้ามาในดินแดนของรัสเซีย อันจะทำให้สงครามขยายตัวออกไปอีก เพราะรัสเซียต้องตอบโต้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ยูเครนแต่จะขยายออกไปถึงผู้ส่งขีปนาวุธด้วย

ครั้นมีการประชุม G-7 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ทำให้ประหลาดใจ ด้วยการประกาศจะสนับสนุนยูเครนด้วยการส่งเครื่องบินรบ F-16 ไปช่วย และเปิดไฟเขียวให้สมาชิกนาโต้ทำได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะให้กู้ หรือให้เปล่า และจะส่งคนไปฝึกให้ที่ยุโรป เพราะไม่ต้องการให้มาฝึกที่สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามทั้งเยอรมนีและสหราชอาณาจักรต่างก็ออกตัวว่าพวกเขาไม่มี F-16 และไม่มีนักบินที่ชำนาญพอจะฝึกให้ได้

ก็คงเหลือแต่โปแลนด์ที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ว่าจะส่งฝูงบินมิกก์-29 ที่ตนมีอยู่ให้ยูเครน เพื่อแลกกับการทดแทน F-16 จากสหรัฐฯ

ด้วยท่าทีของ G-7 ในการประชุมที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยการเชิญเซเลนสกีไปร่วมด้วย พร้อมกับการประกาศสนับสนุนอาวุธและอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นเบื้องต้นประกาศจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาทหารยูเครน และต่อไปเมื่อแก้กฎหมายห้ามส่งออกอาวุธ ก็คงส่งอาวุธสนับสนุนยูเครน ทำให้มองได้ชัดเจนว่า G-7 ต้องการขยายสงครามและเผชิญหน้ากับรัสเซีย ซึ่งทำให้โลกพากันวิตกกังวลว่าจะเกิดสงครามใหญ่ โดยที่ G-7 มิได้มีการพูดกันเรื่องเศรษฐกิจทึ่ควรเป็นหัวข้อหลักหรือการสร้างสันติภาพ

นอกจากความพร้อมเผชิญหน้ากับรัสเซียแล้ว G-7 ยังมีท่าทีต่อต้านจีน โดยเฉพาะการเปิดประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ที่จีนเข้ามาเคลมพื้นที่อันเป็นเขตทับซ้อนกับหลายประเทศในอาเซียน ในการนี้ G-7 ได้เชิญอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อสร้างพันธะให้อินโดนีเซียร่วมมือในแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค ในการปิดล้อมจีน แต่อินโดนีเซียก็หลบฉากด้วยการประกาศตัวเป็นกลาง เพราะไม่ต้องการอยู่กับความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย

ที่น่าสังเกตอีกประการคือ G-7 เชิญเวียดนามเข้าร่วมโดยเปลือกนอก อ้างว่าจะพิจารณาให้เงินกู้จาก EU แก่เวียดนามในการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวพันกับการต่อต้านการปรวนแปรของภูมิอากาศ แต่เบื้องลึกก็ต้องการให้เวียดนามซึ่งก็ขัดแย้งกับจีนในพื้นที่ทับซ้อนทะเลจีนใต้ ได้มีส่วนในการปิดล้อมจีนด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีอย่างใดของเวียดนามในเรื่องนี้ ในขณะที่เมดเวเดฟอดีตประธานาธิบดีไปเยือน อันนำมาสู่ข่าวที่ว่าประธานาธิบดีปูตินจะไปเยือนเวียตนาม

อย่างไรก็ตามที่โตเกียวยังมีการประชุมไตรภาคีระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการวางแผนต่อต้านจีน ซึ่งงานนี้จีนก็ได้ออกมาแถลงตอบโต้ว่ากลุ่ม G-7 และไตรภาคีคุกคามจีน และสร้างเรื่องราวที่เกินความจริงไปมาก

ซึ่งจีนเองก็มีเป้าหมายที่จะทำการเจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนแบบทวิภาคีกับแต่ละประเทศ แต่เรื่องนี้ก็อาจมองได้ว่ากลุ่มประเทศเหล่านั้นอาจต้องการ การเจรจาแบบพหุภาคี เพราะจะได้มีอำนาจต่อรองมากขึ้นกับมหาอำนาจอย่างจีน

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ประเทศไทยควรจะต้องไตร่ตรองในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ หรือเล่นการเมืองระหว่างประเทศคือ G-7 ไม่ได้เชิญไทยเข้าร่วมประชุม แต่เชิญเวียดนาม ส่วนอินโดนีเซียนั้นเข้าใจได้เพราะเขาเป็นประธานอาเซียน

ด้วยเหตุนี้จึงอาจวิเคราะห์ได้ว่า G-7 รวมถึงสหรัฐฯอาจให้ความสำคัญกับประเทศไทยน้อย ด้วยมองว่าท่าทีทางการเมืองระหว่างประเทศของไทยยังไม่ชัดเจน การเมืองภายในยังไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งประเทศไทยภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นแกนนำ จะต้องทุ่มเทศักยภาพทั้งกำลังคน องค์ความรู้และแนวคิดใหม่ๆที่จะดำเนินการรุกทางการเมืองระหว่างประเทศและไม่ใช่การรับหรือถอยร่น

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือจะยืนหยัดเลือกข้าง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือตั้งตนเป็นกลางเป็นมิตรทุกฝ่าย บางกระแสมักอ้างว่าความเป็นกลางทำไม่ได้หรือยาก เพราะการเมืองไทยยังไม่เข้มแข็ง และโดยรวมไม่มีอำนาจต่อรองมากพอ

แต่ถ้าเลือกข้างชัดเจนแน่ใจหรือว่าจะไม่นำมาสู่การถูกใช้ให้เป็นด่านหน้าให้ต่อต้านอีกฝ่าย และจะนำอันตรายมาสู่ประเทศไทย

หากเลือกเป็นกลางและเห็นว่าไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อรองก็หาพวกเป็นไปได้ไหม คิดไม่ออกลองปรึกษาอินโดนีเซีย พี่ใหญ่ของอาเซียนเชื่อว่าทางออกในแนวนี้ยังมีแสงสว่าง แต่ต้องลงมือทำไม่ใช่แค่พูด และต้องชี้แจงให้ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เข้าใจ เพราะผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน