ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี นำเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำระยะไกลจากเขื่อนกระเสียวช่วยชาวบ้านในพื้นที่ ต.หนองมะค่าโมง 7หมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งการสูบน้ำในครั้งนี้มีระยะทางยาวกว่า 20กิโลเมตร นำไปช่วยชาวบ้านในการอุปโภคบริโภค และพืชผลทางการเกษตร
วันที่ 25 พ.ค.66 นายสมรส กาฬภักดี ผู้ใหญ่บ้าน หมูที่ 15 หนองมะค่าโมง กล่าวว่า ด้วยเหตุที่เกิดจากพายุในเขื่อน พอโดนพายุแพปั๊มน้ำก็ล่ม ที่ผ่านมาน้ำแรงดันไม่พอ จึงร้องขอไปที่ ปภ. ทางปภ.เขต2 ก็ได้มาสำรวจว่ามีเครื่องแรงดันขึ้นช่วยไหวไหม และท่านผอ. ปภ.เขต2 ก็ได้นำเครื่องจักรมาช่วยที่แพ มาช่วยเสริมให้มีแรงดันน้ำสูงขึ้น สาเหตุมาจาก น้ำในเขื่อนเราต้องรีบสูบขึ้นมาเพราะว่าเขาปล่อยไปให้ชาวนา แล้วเราไม่สามารถไปต่อท่อสูบได้อีก
ดังนั้นจึงต้องสูบขึ้นมาใส่ฝายเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้กับชาวไร่ 7 หมู่บ้านได้ใช้ และใช้อย่างประหยัด ใช้แบบน้ำหยดใส่พืชทั่วไป เพราะเรามีค่าใช้จ่ายสูงในการสูบน้ำจากเขื่อนขึ้นมา และสูบจากในฝายขึ้นไปในไร่อีกรอบ น้ำไม่ถึงฝายตัวที่ 10 ตัวสุดท้าย ก็มีการร้องขอไปทาง ปภ. ทางปภ.ก็ได้เข้ามาช่วย ก็ยังไม่รู้จะหาช่องทางไหนที่จะนำน้ำไปถึงฝายตัวที่ 10 ตัวสุดท้ายให้ได้ โดยเฉพาะหมู่บ้านของผมที่อยู่หมู่บ้านสุดท้าย ผมก็อยากขอบคุณศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สุพรรณบุรีเขต 2 ขอบคุณที่ท่านมาช่วย ฝากขอบคุณไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาช่วยประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ด้วย
ด้าน รมช.มหาดไทย ชื่นชมการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง อย่างเป็นระบบ หลังลงพื้นที่ จังหวัดสุพรรณบุรี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวขณะลงพื้นที่ ตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลแลกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ว่าขอชื่นชมการบริหารจัดการน้ำ/การป้องกันแก้ปัญหาภัยแล้งในห้วงที่ผ่านมา สุพรรณบุรีถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้ พร้อมกันนี้ขอให้ทุกหน่วยงาน ร่วมมือในแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด และหากที่มีพื้นที่ว่างให้ร่วมกันปลูกต้นไม้ โดยเลือกไม้ประจำถิ่น อีกทั้งทั้งช่วยรณรงค์ให้คนมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนและช่วยสังคมให้มีความรักความเอื้ออาทรต่อกัน/ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง/พึ่งตนเอง/ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและแก้ไขปัญหาในยามมีภัยพิบัติได้ ที่สำคัญคือ ให้ช่วยรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เชื่อมั่นในรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าจะปกป้องแผ่นดินไทยแก้ปัญหาและพัฒนาบ้านเมืองได้ ยามสงคราม - ยามสงบ ต้องร่วมกันพัฒนา ย้ำเตือนว่าหน่วยงานของเรา หมายถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงมหาดไทย คือที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะในยามเกิดวิกฤตหรือมีภัยพิบัติซึ่งมีความคาดหวังว่าจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการและสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่าง ทันท่วงที
นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความท้าทายกับสภาพปัญหาในปัจจุบันซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องกำหนดแผนในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวไว้ให้ครบถ้วน-ชัดเจน ได้แก่ด้าน 1. บุคลากร 2. ด้านแผนงาน/งบประมาณ3.เครื่องมือ/วัสดุอุปกรณ์ และ 5.ด้านการบริหารจัดการในกรณีที่มีการสลับสับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบ หรือมีการโยกย้ายของบุคลากร เพื่อให้งานในหน้าที่ความรับผิดชอบมีความต่อเนื่องกัน
อย่างไรก็ตาม ขอให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่พี่น้องประชาชน เพราะ เราคือทัพหน้าของการแก้ปัญหาในทุกวิกฤตของประเทศ /เราคือความหวังของพี่น้องประชาชนในทุกยาม โดยเฉพาะยามมีภัยพิบัติ /เราคือตัวแทนรัฐบาลที่ส่งต่อความห่วงใย /เราคือมหาดไทยที่ยืนบำบัดทุกข์ บำรุงสุข อย่างทระนง ไม่หวั่นไหว
ทั้งนี้ นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรี ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๗๐ประกอบอาชีพเกษตรกรรมสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2566 เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2566 อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 35 องศาเชลเชียสขึ้นไป ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมแทน ส่งผลมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ดำเนินการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2566
โดยได้จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์วางแผนการบริหารจัดการน้ำ สำรวจพื้นที่ที่เคยเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นประจำเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เสี่ยงภัยแล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนภาคส่วนต่างๆมีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด
ขณะที่ นายเอกภพ จันทร์เพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินของศูนย์ฯ ทั้ง 4 จังหวัดในความรับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และจังหวัดสุพรรณบุรี ในด้านอำนาจหน้าที่ และการเตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง ปี 2566 โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงาน/การวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ/การทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุ/การสำรวจหมู่บ้าน/ชุมชนที่เคยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร/การสร้างการรับรู้ทั้งประชาชนและส่วนราชการถึงสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกล เพื่อทำการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที