สศอ.เผยอุตสาหกรรมพลาสติก เหล็ก และอะลูมิเนียมได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ชี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวก่อนมีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2566 พร้อมแนะขยายตลาดส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งที่ปรับตัวไม่ทัน และรองรับประเทศอื่นที่มีแนวโน้มจะบังคับใช้ในอนาคต

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นน้อยกว่าสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนในกระบวนการผลิตได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย พลาสติกและไฮโดรเจน โดยสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้มี 3 อุตสาหกรรมได้แก่ พลาสติก เหล็ก และอะลูมิเนียม ซึ่งในปี 2565 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พลาสติกมีมูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 676 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือสัดส่วนร้อยละ 2.4 เหล็กอยู่ที่ 201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 0.7 และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 111 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 0.4 ของมูลค่าสินค้าที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป 

ทั้งนี้นอกจากสหภาพยุโรปแล้วยังมีประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act: CCA) เพื่อกำหนดราคาคาร์บอนจากสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้า CBAM ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอน CBAM ที่ไทยส่งไปสหรัฐอเมริกามี 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ พลาสติกและอะลูมิเนียม ในปี 2565 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พลาสติกมีมูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 1,245ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือสัดส่วนร้อยละ 2.1 และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 1.5 ของมูลค่าสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา

โดยประเทศไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ CBAM ถึงแม้ปัจจุบันตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังไม่ใช่ตลาดหลักที่ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวข้างต้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการปล่อยคาร์บอนก็ตาม โดย สศอ.เสนอแนะผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้ยังคงสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมได้ จะต้องรายงานปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศตามมาตรการ CBAM รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการวางแผนปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง การจ่ายค่าปรับภาษีคาร์บอนหรือการซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตลอดจนพัฒนาระบบการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด พัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมสินค้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป สินค้าสำเร็จรูป และการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Circular and Green economy model : BCG) ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการสามารถพัฒนากระบวนการผลิตและการบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ถือเป็นการขับเคลื่อนสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะสามารถก้าวสู่โอกาสในการขยายตลาด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ส่งออกจากประเทศอื่นที่ไม่สามารถปรับตัวรองรับตามมาตรการ CBAM ได้ทัน และจะเป็นประโยชน์ต่อไปสำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวรองรับการดำเนินมาตรการ CBAM ของประเทศอื่นที่มีแนวโน้มจะบังคับใช้ในอนาคตเช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น” นางวรวรรณกล่าว