สศร.ร่วมดีไซเนอร์จับมือผู้ประกอบการพัฒนาผ้าบาติกแดนใต้ ขยายฐานลูกค้าต่างชาติ
นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย.(สศร.) กล่าวว่า สศร.ร่วมกับนายทรงวุฒิ ทองทั่ว ดีไซเนอร์ ดำเนินงานพัฒนาเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยของผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ร้านศรียะลาบาติก จ.ยะลา กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมบาติกภาคใต้ และบาติก เดอนารา จ.นราธิวาส โดยได้แนะนำให้ความรู้เทคนิคแก่ผู้ประกอบการได้พัฒนาต่อยอดลวดลายผ้าบาติกที่เป็นวิถีและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ให้มีความร่วมสมัยเกิดลวดลายใหม่ๆที่หลากหลายเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะต่างชาติ เหมาะกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังใช้การเชื่อมโยงอัตลักษณ์เดิมจากท้องถิ่นให้มีเรื่องราวมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สู่อุตสาหกรรมผ้าในระดับต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศควบคู่กับการจำหน่ายให้แก่กลุ่มลูกค้าเดิมๆ พร้อมกันนี้ได้เน้นให้นักออกแบบร่วมสร้างสรรค์งานที่ตอบโจทย์แนวคิด BCG ลดโลกร้อนด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ยั่งยืน รวมถึงใช้วัสดุที่ก่อให้เกิด Carbon Footprint น้อยที่สุด
นายทรงวุฒิ ทองทั่ว ดีไซเนอร์ กล่าวว่า แนวคิดของการออกแบบลายผ้าบาติกที่ส่งมอบให้ผู้ประกอบการ สกัดมาจากการเกิด ปัญหาโลกร้อน และปีนี้อากาศประเทศไทยยังร้อนจัดมาก จึงอยากให้ทุกคนตระหนักในเรื่องนี้ จึงเกิดเป็นลายลาวาบนผ้ายีนส์ และใช้สีธรรมชาติพิมพ์ลงบนผ้ายีนส์ ซึ่งการเลือกผู้ประกอบ3 กลุ่มมาจากความเอกลักษณ์คือการทำผ้าบาติกแบบสีธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยม โดยร้านศรียะลาบาติก จ. ยะลา มี 2 ลาย ได้แก่ ลายลาวา กับลายไฟป่า ส่วนชุมชนบ้านบาโง กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมบาติกภาคใต้ จ.นราธิวาส ได้แก่ ลายคลื่นความร้อน และลายแหอวน สะท้อนปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ส่วนร้านบาติก เดอ นารา ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้แก่ ลายฝุ่นPM2.5 และลายภูเขาน้ำแข็งแตก
ด้าน นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้ประกอบการร้านศรียะลาบาติก กล่าวว่า ได้รับโจทย์ในการทำงานกับผ้ายีนส์ นับเป็นความท้าทายการทำงานของคนในชุมชน และเปิดใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ ให้มีความแตกต่าง เพิ่มมุมมองและแนวคิดของการทำงาน และหวังว่าจะช่วยเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ สร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น
น.ส.โรสวาณี สุหลง รองประธานกลุ่มชุมชนบ้านบาโง กล่าวว่า ลวดลายที่ทางดีไซเนอร์ออกแบบมาค่อนข้างซับซ้อนแต่ดูสวยแปลกใหม่ อีกทั้งต้องทำกับเนื้อผ้ายีนส์ถือว่าท้าทายภูมิปัญญาที่ทางครอบครัว ของตนเองเป็นคนคิดค้น แต่เทคนิคที่ดีไซเนอร์เสนอแนะให้นั้น คิดว่าจะสามารถพัฒนาได้ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีแนวคิด มุมมองใหม่ ๆ ในการสร้างผลงานที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด