เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 24 พ.ค. 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ทำการสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยเดือดร้อน เพราะถอนเงินจากสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยไม่ได้ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ นายอำเภอ ผกก.สภ.เปือยน้อย และสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น รวมถึงประธานบริหารสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยและผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ประชาชนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับความเดือดร้อน ร่วมประชุม
โดยทันทีที่ นายชาญชัย เข้ามาในห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ก่อนจะหันไปพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่พร้อมกันภายในห้องประชุม ทั้งยังตำหนิผู้จัดการและประธานสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยที่ร่วมประชุมในวันนี้ด้วย โดยได้ถามถึงการทำงานว่าทำอะไรอยู่ ถึงปล่อยให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนระยะเวลาเป็นปี แต่ไม่ทำอะไรเลยจนเหตุการณ์ลุกลาม อีกทั้งยังบอกอีกว่าไม่เชื่อว่าจะสามารถทำคนเดียวได้โดยที่ผู้บริหารไม่ทราบ
พร้อมทั้งกล่าวกลางที่ประชุมด้วยน้ำเสียงเข้มว่า เรื่องนี้ตนเองในฐานะที่ทำงานร่วมกับ ผวจ.ขอนแก่นมานาน ไม่ชอบที่จะให้มีเรื่องผิดกฎหมายบนความทุกข์ของชาวบ้าน จะไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบและจะติดตามความคืบหน้า พร้อมกันนี้ยังกล่าวอีกว่า จะปิดฉากละครปาหี่นี้้โดยเร็ว พร้อมสาปแช่งผู้ที่เอาเงินในบัญชีของสมาชิดกสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยไปขอให้ครอบครัวชิบหาย ซึ่งหลังจากที่รองผู้ว่าฯพูดจบประโยค ชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังนับร้อยคนในห้องประชุมทต่างปรบมือชื่นชอบในคำพูดของรองผวจ.ขอนแก่นอย่างมาก
นายสมศักดิ์ แก้วอาสา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย กล่าวว่า หลังเกิดเรื่องก็ได้ดำเนินการหาแนวทางมาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยยึดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ สหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย จำนวน 4แนวทาง ขอยื่นกู้เงินทุนจากสหกรณ์เครดิตยูเนียน ซึ่งทางสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยเองปัจจุบันมีสินทรัพย์ ซึ่งนำไปจำนองกับสหกรณ์เครดิตยูเนียน ซึ่งหากยื่นกู้ผ่านก็จะสามารถมีเงินจำนวน 28 ล้านบาทซึ่งเพียงพอต่อจำนวนเงินที่ถูกยักยอกไปแต่จะต้องรอระยะเวลาในการอนุมัติหนึ่งเดือน แนวทางที่ 2 คือกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ซึ่งสามารถกู้เงินได้ในวงเงิน 5,000,000 บาทต่อหนึ่งสัญญาโดยมีระยะเวลาพิจารณาประมาณสองเดือนในการอนุมัติวงเงินกู้
“สหกรณ์บริหารลูกหนี้สหกรณ์ให้เป็นปัจจุบันโดยทำการเร่งรัดเงินกู้จากลูกหนี้ภายใต้กรอบสัญญาหากลูกหนี้จ่ายไม่ตรงตามสัญญาที่ระบุก็อาจจะมีการฟ้องแพ่งเพื่อเอาเงินมาชดใช้ให้กับสมาชิกทั้งหมดที่ได้รับความ เสียหายโดยมีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 90 วันและหลังจาก 90 วันก็จะรอศาล พิจารณา ตัดสินตามขั้นตอนและสั่งจ่ายเงินให้กับสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย และแนวทางที่ 4 สหกรณ์มีทรัพย์สินเป็นที่ดินหลายแปลง จะนำขาย เพื่อนำเงินมาคืนให้ประชาชน และที่ล่าช้า เพราะยังไม่มีเวลาจัดการ เพราะหลังทราบเรื่อง ต้องทำหลายหน้าที่ และต้องรวบรวมเอกสาร หลักฐานต่างๆ เข้าแจ้งความด้วย แต่ขอยืนยันว่าจะนำเงินมาคืนให้ประชาชนทุกราย”
ด้านนายณัฐพล แป้นนอก สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย เป็นนิติบุคคลที่มีนายทะเบียนเป็นเทศบาลตำบลเปือยน้อย แต่สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยงานราชการ ที่เข้ามากำกับดูแลการบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องก็จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการของสหกรณ์เป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมีประธานและคณะกรรมการรวม 13 คน มีสมาชิกทั้ง1,800คน
"ในการตรวจสอบนั้น หลังจากทราบเรื่องได้ลงพื้นที่มาตรงจสอบ พร้อมตั้งคณะทีมตรงจสอบ ร่วมกันกับสำนักงานตรวจบัญชี โดยจะสรุปข้อมูลการทำงานในวันที่ 25 พ.ค.นี้ก็จะได้รู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของสหกรณ์เปือยน้อย ทั้งข้อมูลเงินฝาก เงินกู้ เงินหุ้น เงินฌาปนกิจ สำหรับในส่วนของผู้ที่กระทำความผิด หรือคนที่ทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อวานนี้ วันที่ 23 พ.ค.ประธานสหกรณ์ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วกับพนักงานสอบสวนสภ.เปือยน้อย เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้นด้วยเอกสารหลักฐานต่างๆพบความผิดและการก่อเหตุเพียงคนเดียว และสหกรณืจังหวัดขอนแก่น ก็ไม่ได้นิ่งนอนจะเร่งดำเนินการให้เกิดความกระจ่างโดยเร็ว ในส่วนที่ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย บอก 4 แนวทางที่จะทำการกู้เงิน เพื่อนำเงินมาคืนให้กับสมาชิกได้ภายใน 60 วันนั้น ขณะนี้ ทั้ง 4 แนวทางยังไม่มีการดำเนินการ จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะได้เงินมาคืนให้สมาชิกได้ตอนไหน เพราะยังไม่มีการดำเนินการ จึงยังไม่ได้รับการอนุมัติจากแหล่งเงินใดๆ"
ขณะที่นายกุล ภาคเดียว ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การที่ ปปช.เข้ามาร่วมประชุมและลงพื้นที่มารับฟังปัญหาจากประชาชน ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถอนเงินจากสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยไม่ได้ เพราะเนื่องจากมีประชาชน ร้องเรียนผ่านเวปไซต์ของปปช.แลรวมถึงเดินทางเข้าร้องเรียนด้วยตนเองที่ สนง.ปปช.จ.ขอนแก่น ว่าให้ ปปช.ลงพื้นที่ ตรวจสอบการทุจริตเงินฝากของประชาชนไปกว่า 20 ล้าน จึงเดินทางมารับทราบปัญหา ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ จากการทราบรายละเอียดจากชาวบ้าน และคณะทำงานแล้ว เกี่ยวข้องทั้งคดีอาญาและแพ่ง ฉะนั้นประธานสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์ และคณะกรรมการทุกคน ต้องให้คำตอบกับคณะทำงานให้ได้ว่า เงินหายไปไหน และจะคืนเงินให้ชาวบ้านได้เมื่อใด ทุกขั้นตอน สหกรณ์ต้องโปร่งใส ชัดเจน
อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมร่วม 4 ชั่วโมง นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการประชุมหารือ ทั่วไป แต่เป็นการกำหนดแนวทางในการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าความเสียหายอยู่ที่ไหน สาเหตุคืออะไร ใครทำ ซึ่งขณะนี้ทางสหกรณ์จังหวัดและสำนักงานตรวจสอบบัญชีได้ลงพื้นที่มา และแบ่งทีมตรวจสอบความเสียหายใน 3 ประเภท คือเงินที่ถอนไม่ได้ หายไปไหน ใครเอาไป เงินกู้กรณีไม่มีหนี้ แต่มีชื่อเป็นหนี้ รวมถึงเงินหุ้น ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนทั้งหมด เพื่อเอาคนผิดมาลงทาตามกฏหมายทั้งหมดในส่วนของประชาชนนั้น เรากำหนดแนวทางไว้ว่าให้ทางประชาชนเข้าไปดำเนินการแจ้งความทันทีในฐานะผู้เสียหาย โดยได้มอบหมายได้ทางตำรวจและทางนายอำเภอเป็นผู้ประสานงานดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สมาชิกได้รับการเยียวยาโดยเร็ว และทุกคนที่เป็นสมาชิกและได้รับความเสียหายต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ บอกต่อกันให้เข้าแจ้งความทั้งหมดโดยเร็ว
“สหกรณ์ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และทุกเรื่องจะต้องชี้แจงได้ ทั้งเรื่องทรัพย์สินหาย ตัวเลขในบัญชีหาย หายได้อย่างไร หายไปไหน ผู้รับผิดมีคนเดียว แต่การสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่าไม่สามารถดำเนินการคนเดียวได้ เกิดเหตุมาเป็นปีทำไมไม่ทำอะไร ผู้บริหารทำอะไรอยู่ ต้องชี้แจงสังคมได้ ไม่ใช่ปล่อยพี่น้องประชาชนมาประท้วงกันเยอะๆ ทั้งที่มาประชาชนก็ไม่ผิด และไม่ได้เป็นการประท้วงแต่เป็นการทวงถามสิทธิ์ของสมาชิก เพราะเค้าเดือดร้อนและไม่กล้ามาคนเดียว อีกทั้งอธิบายให้ประชาชนฟังก็กำกวม ชาวบ้านงงไม่เข้าใจก็กลับไป ในเรื่องนี้ผู้บริหารสหกรณ์ที่ยุ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดและสหกรณ์จะต้อวชี้แจงต่อสังคมได้”
รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของจังหวัดนั้นได้มีการประสานงานร่วมกันหลายภาคส่วนในการตรวจสอบ เพื่อดำเนินการเอาผิดในข้อกฎหมายสูงสุดสำหรับผู้ที่กระทำความผิดทั้งหมด โดยไม่มีละเว้น จะต้องมีการขยายผลเกี่ยวกับทรัพย์ว่าไปอยู่ที่ไหนเชื่อมโยงใครบ้าง ซึ่งจังหวัดจะมีการประสานเจ้าหน้าที่ ปปง. ร่วมในการตรวจสอบด้วย เพื่อเร่งในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้เร็วที่สุด ในการตรวจสอบนั้น ทางจังหวัดจะทำควบคู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสหกรณ์จังหวัด สำนักตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ แม้จะตั้งกำหนดระยะเวลาตรวจสอบเบื้องต้นถึงวันที่ 25 พ.ค. แต่ในส่วนนี้จะยังไม่หยุดการรับข้อมูลหลักฐานเท่านี้ จะยังคงรับข้อมูลหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ได้มากที่สุด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายลงโทษสูงสุดในฐานความผิดทุกฐานที่เกี่ยวข้อง