นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงยอดผลิตรถยนต์เดือนเมษายน 2566 ว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ 79,940 คัน เพิ่มขึ้น 43.53% จากเดือนเมษายน 2565 โดยในเดือนเมษายน 2566 ยอดผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้น 21.06% จากฐานต่ำของปีที่แล้ว และรถกระบะเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 6.06% จากฐานต่ำของปีที่แล้ว เนื่องจากขาดแคลนชิปจากการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้ ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ขณะที่ มูลค่าการส่งออกรวม อยู่ที่ 50,164.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยในเรื่องของยอดขายรถยนต์ในปี 2566 เป้าหมายยังคงเดิม อยู่ที่ 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็น ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณ 9 แสนคัน และยอดผลิตเพื่อส่งออก ประมาณ 1.05 ล้านคัน โดยหวังว่าถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว และ 6 เดือนหลังจากนี้จะมีการผ่อนคลายและไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องจับตาดูคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าหาก กนง.ไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว จะส่งผลให้การชำระหนี้ลดลงในบางกลุ่มที่อยู่ในหนี้ครัวเรือน และช่วยให้ธนาคารกลับมาปล่อยสินเชื่อให้ดีขึ้นอีกด้วย

ส่วนในเรื่องของนโยบายค่าแรงของพรรคการเมืองที่จะมีผลในช่วงปลายปี 2566 มองว่าผู้ประกอบในกลุ่มธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดใหญ่ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการจ้างงานในอัตราที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่อเนื่อง ช่วง 3-4 (tier 3-4) ที่ต้องมีภาระเรื่องค่าแรงเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลชุดใหม่มีการปรับขึ้นค่าแรงทันที ซึ่งต้องดูว่าเมื่อนโยบายดังกล่าวถูกนำออกมาใช้แล้ว ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าใดต่อไป

ขณะเดียวกันในเรื่องของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ หรือชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยยังไม่มีความกังวลในเรื่องของนโยบายเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ล่าสุดนักลงทุนต่างชาติเริ่มเข้ามาซื้อที่ดินในไทย และมีแผนที่จะก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มขั้นตอนการผลิตในไทยได้ในปี 2567 แต่เรื่องที่นักลงทุนอยากให้เร่งดำเนินการคือ เรื่องที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอแพ็กเกจส่งเสริมรถยนต์อีวี 3.5 เพื่อส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนเองอยากให้รัฐบาลชุดใหม่อนุมัติโดยเร็ว เพื่อให้สานต่อแพ็กเกจดังกล่าวไปจนถึงปี 2568-2569

ทั้งนี้คาดว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถอนุมัติข้อเสนอของบอร์ดอีวีได้ ภายในปี 2566 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทันที ไม่สะดุด และมีการส่งมอบรถยนต์ได้ทันตามกำหนด แต่หากอนุมัติภายในปีนี้ไม่ทัน หรือเลื่อนไปในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 คาดว่ายังสามารถส่งเสริมแพคเกจย้อนหลังได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโลก และเป็นฮับของเอเชียนต่อไป