เมื่อวันที่ 23 พ.ค.66 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ ฉบับที่ 4/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ความว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศลาวและกัมพูชา
ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566
ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำนองไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ภาคเหนือ
จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า)
2. ภาคกลาง
จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอท่ายาง บ้านลาด และเมืองเพชรบุรี)
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน และปราณบุรี)
3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์)
จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเมืองบุรีรัมย์)
จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี และพิบูลมังสาหาร)
4. ภาคตะวันออก
จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี)
จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง และแกลง)
จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี)
จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด และเขาสมิง)
5. ภาคใต้
จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ)
จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์ เมืองระนอง และสุขสำราญ)
จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)
จังหวัดภูเก็ต (อำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต)
จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา คลองท่อม เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก)
จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน)
จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำนองไม่สามารถระบายได้ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์