หลังจบ "วันเลือกตั้ง" 14 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการสรุป ว่า "พรรคก้าวไกล" เป็นพรรคอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยจับมือกับ 7 พรรคการเมือง ลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค, พรรคเสรีรวมไทย (สร.) นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรค, พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค, พรรคประชาชาติ (ปช.) นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค, พรรคเป็นธรรม นำโดย นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค, นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรค, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง และนายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ เมื่อเวลา 16.45 น. ของวันที่ 22 พ.ค.66
หากคำนวนถึง "ไทม์ไลน์" ในการจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 13 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลเลือกตั้ง แต่หากเกิดความล่าช้าคงเกิดจากการร้องเรียน จากนั้นครม.จะพิจารณาพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาฯ และในวันที่ 20 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่ให้ ส.ส.รายงานตัว
และจากนั้นในวันที่ 24 ก.ค. จะมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ต่อมาวันที่ 25 ก.ค.เปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาฯ และวันที่ 26 ก.ค. โปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานสภาฯ ก่อนที่วันที่ 3 ส.ค. จะเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จากนั้นวันที่ 10 ส.ค. มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และวันที่ 11 ส.ค. จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของ ครม.ชุดรักษาการชุนปัจจุบัน