นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปริมาณการจัดเก็บขยะของกทม.ว่า ปัจจุบันกทม.ได้มีการจัดเก็บขยะประมาณ8,629.68 ตัน/วัน ปัญหาที่พบคือ ไม่มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ประกอบกับจำนวนประชากรที่มากขึ้น ทำให้ขยะมากตามไปด้วย เฉลี่ยสร้างขยะคนละ 1 กก./วัน จึงจำเป็นต้องเน้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีต่างๆ โดยแบ่งการจัดการขยะไว้ 3 ระยะ ดังนี้ 1.ต้นทาง คือ ภาคประชาชน อาคาร บ้านเรือน ผู้ประกอบการ ที่เน้นให้เขาคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน เพื่อลดปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น และสะดวกต่อการนำไปจัดการของเจ้าหน้าที่ โดยใช้แนวคิด 3 R คือ 1.Reduce ลดปริมาณขยะที่สร้างขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Singer use) มาเป็นการใช้ถุงผ้าแทน 2.Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้ของที่สามารถใช้ซ้ำได้ 3.Recycle ขยะที่ไม่สามารถใช้งานได้ สามารถนำไปแปรรูปใหม่ เช่น ขวดเพท หรือขวดน้ำดื่มพลาสติก สามารถนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าได้ตามกระบวนการ Recycle ซึ่งทั้ง 3 วิธี สามารถลดปริมาณขยะและของเสียที่เกิดขึ้นจากต้นทางได้ แต่ประชาชนต้องมีวินัยในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการจัดการขยะใน ระยะ 2.กลางทาง กทม.จัดเตรียมภาชนะสำหรับขยะมูลฝอยแบบแยกประเภทให้แก่ชุมชน ขณะเดียวกัน รถเก็บขยะของ กทม.ได้จัดเตรียมช่องแยกขยะเอาไว้เพื่อรองรับ เช่น ขยะรีไซเคิล ขยะมูลฝอยอันตราย โดยแยกออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป พร้อมวางแผนการจัดเก็บไม่ให้มีขยะตกค้าง ส่วน ในระยะ 3.ปลายทาง คือการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยการผลิตพลังงานไฟฟ้า หมักทำปุ๋ย ส่วนที่เหลือนำไปฝังกลบ ซึ่งการแยกขยะก่อนทิ้งล้วนมีผลดีทั้งในแง่การช่วยทำให้สภาพแวดล้อมดี ยังสามารถลดปริมาณขยะได้เพราะบางส่วนนำกลับไปใช้ได้ หรือนำไปทำปุ๋ย ส่งผลให้กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณในการจัดเก็บจึงน้อยลงไปด้วย ถ้าประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทิ้งขยะตั้งแต่ต้นทางคือภาคครัวเรือน รวมถึงมีการคัดแยกขยะทุกครั้ง เชื่อว่าปริมาณขยะในกรุงเทพมหานครจะลดลง และทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น กทม.จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันแยกขยะ เนื่องจากปัจจุบัน กทม.ต้องเสียงบประมาณในการจัดเก็บขยะถึงปีละ 8,000 ล้านบาท ซึ่งหากทุกคนช่วยกัน สามารถนำงบส่วนนี้ไปช่วยด้านอื่นๆ ได้อีกมาก