ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงปู่ยิ้ม จันฺทโชติ หรือที่นิยมเรียกนามท่านว่า ‘หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม’ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม) ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พระเกจิยุคเก่าที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระเครื่องและเครื่องรางของขลังของท่านล้วนเป็นที่นิยมแสวงหาอย่างสูง ด้วยพุทธานุภาพสูงส่งเป็นที่ปรากฏ ซึ่งนับวันยิ่งจะหาดูหาชมยากยิ่งนัก
หลวงปู่ยิ้ม จันฺทโชติ เป็นชาววังด้ง จ.กาญจนบุรี โดยกำเนิด เกิดปีมะโรง เดือนห้า วันอังคาร ปี พ.ศ.2387 โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายยิ่งและนางเปี่ยม ประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ ล่องไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ในวัยเด็กเป็นคนเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ มีความเป็นนักเลง พูดจริงทำจริง เด็กรุ่นเดียวกันหรือแก่กว่ายอมยกให้เป็นลูกพี่ พออายุครบบวชได้อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยมี พระอาจารย์กลีบ วัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และ พระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า ‘จันฺทโชติ’ ศึกษาร่ำเรียนอักษรขอม ภาษาบาลี มงคลทีปนีมูลกัจจายน์ พระมาลัย พระเจ้าสิบชาติ และท่องสูตรสนธิจนแตกฉาน สามารถท่องจำพระปาฏิโมกข์ได้แต่พรรษาที่ 2 ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์และได้รับการถ่ยทอดวิทยาอาคมจากพระอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมแกร่งกล้าหลายท่านด้วยกัน เช่น หลวงพ่อพระปลัดทิม วัดบางนางลี่น้อย อ.อัมพวา, หลวงพ่อพ่วง วัดปากสมุทรสุดคงคา, หลวงพ่อกลัด วัดบางพรม อัมพวา และหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ อัมพวา เป็นต้น
หลวงปู่ยิ้ม เป็นพระเกจิที่มีอุปนิสัยสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง กาลต่อมาได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองบัวสืบต่อจากหลวงพ่อกลิ่น ท่านปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระจนมีชื่อเสียง และเป็นอาจารย์สอนทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากนี้ ท่านได้คิดค้นวิชาคาถาอาคมไว้หลายแขนงวิชาด้วยกัน ทั้งด้านไสยศาสตร์และวิชาแพทย์แผนโบราณ ที่สำคัญคือ ‘คาถาหัวใจโลกธาตุ’ (อินธินาทะยิ) ที่มีความเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์มาก ท่านยังเมตตาถ่ายทอดไสยเวทวิทยาคมให้กับลูกศิษย์ในยุคต่อมาจนกลายเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายรูป มีอาทิ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว, หลวงปู่ดี วัดเทวสังฆาราม, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อสอน วัดลาดหญ้า ฯลฯ ทั้งยังเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาไสยศาสตร์ให้กับ กรมหลวงชุมพรฯ อีกด้วย แม้กระทั่ง หลวงปู่ศุข แห่งวัดมะขามเฒ่า ยังเคยธุดงค์มาอยู่จำพรรษาที่วัดหนองบัว เพื่อแลกเปลี่ยนสรรพวิชากัน
ท่านมรณภาพลงอย่างสงบเมื่อปี พ.ศ.2453 สิริอายุได้ 66 ปี 46 พรรษา หลังจากนั้น ตำรับตำราต่างๆ ของท่านก็เป็นมรดกตกทอดมาถึง เจ้าคุณพระโสภณสมาจาร (เหรียญ) วัดหนองบัว และศิษยานุศิษย์ที่ได้รับสืบทอดวิชาก็ได้สร้าง ‘เครื่องรางของขลัง’ เจริญรอยตามแบบท่านสืบมาจนถึงปัจจุบัน
หลวงปู่ยิ้ม สร้างพระเครื่องและเครื่องรางของขลังหลากหลายประเภท ทั้ง พระปิดตา พระผง สมเด็จเล็บมือ ตะกรุด มีดหมอ และเชือกคาดเอว เพื่อแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหาที่มีอยู่มากมาย เพื่อใช้ติดตัวเป็นที่พึ่งที่ระลึก ซึ่งวัตถุมงคลทุกประเภทล้วนสร้างพุทธาคมเป็นที่ปรากฏ เป็นที่เลื่องลือ เลื่อมใส ศรัทธา และหวงแหนของผู้บูชายิ่ง ว่ากันว่า ‘มีดหมอ’ ประจำพระองค์กรมหลวงชุมพรฯ ก็เป็นของหลวงปู่ยิ้มด้วย
นอกเหนือจาก ‘พระปิดตาภควัมบดี’ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดและได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อผงแล้ว ยังมีเครื่องรางที่ได้รับความนิยมสูงสุดอีกประเภทหนึ่งคือตะกรุดลูกอม ที่เรียกกันว่า "ตะกรุดโลกธาตุ" ซึ่งถือเป็นต้นตำรับการสร้างตะกรุดลูกอมโลกธาตุของเมืองไทย
"ตะกรุดโลกธาตุ" เป็นตะกรุดขนาดเล็กใช้พกติดตัว หลวงปู่ยิ้มจะลงด้วยหัวใจโลกธาตุ “อิจฉันโต จิตโต อิจฉันโต โลกธาตุมหิ อัตตะภาเทวนัง นาทุยิ วาระวีสะติ สิทธังละอะ” และกลึงปิดหัวท้ายพระยันต์ด้วยยันต์ใบพัด วัสดุที่ใช้ทำจะเป็นโลหะ ทองคำ เงิน นาค หรือทองแดง ซึ่งต้องมีน้ำหนัก 1 สลึง ยาวขนาด 7 ใบมะขามเรียกว่า ‘สัตตะโพชฌงค์ 7’
ตะกรุดโลกธาตุ หลวงปู่ยิ้ม สร้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมายเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เมื่อถึงคราวคับขันจวนตัวจะถูกทำร้ายให้กลืนเข้าไปในท้อง จะสามารถล่องหนหายตัวและป้องกันอันตรายได้ทุกประการ ตะกรุดนี้เชื่อว่าสามารถออกมาจากร่างกายได้เอง โดยให้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนนอน รุ่งขึ้นตะกรุดก็จะออกมาปรากฏอยู่ข้างตัว โดยจะไม่ออกทางทวารเบื้องต่ำเด็ดขาด ปัจจุบันหาดูได้ยากยิ่ง และในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่ยิ้มนั้น น้อยท่านนักที่เรียนจบวิชา ‘คาถาหัวใจโลกธาตุ’ เล่ากันว่าลูกศิษย์ที่เรียนวิชานี้จบครบสูตรแน่ๆ และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ พระราชมงคลวุฒาจารย์ หรือ หลวงปู่ใจ อินฺทสุวณฺโน แห่ง วัดเสด็จ อัมพวา จ.สมุทรสาคร ซึ่งต่อมาท่านก็ได้สร้างตะกรุดลูกอมเช่นเดียวกันกับหลวงปู่ยิ้มจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน แต่อาจารย์กับศิษย์ถึงการสร้างจะเป็นตะกรุดลูกอมเหมือนกัน แต่วิธีการสร้างจะแตกต่างกัน ดังคำโบราณที่ว่า "ลูกศิษย์ต้องเดินตามรอยตามอาจารย์ แต่ห้ามเดินทับรอยอาจารย์” ครับผม