เมื่อวันที่ 13.12 น. วันที่ 22 พ.ค.66 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 14 ณ ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 14 และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน ฯ กับทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย
เสร็จแล้ว ศาสตราจารย์กิตติคุณตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และนายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตัดแถบแพรเปิดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 14 เสร็จแล้ว ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสนับสนุนและส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในโครงการศิลปาชีพ และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งได้จัดแสดงพระฉายาลักษณ์ ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บ
จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าพื้นถิ่นต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อแสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทย นิทรรศการ “มรดกสยามอันล้ำค่า” จัดแสดงและสาธิตงานศิลปหัตถกรรมที่ล้ำค่าและหาดูยาก โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน กิจกรรมสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย จัดแสดงสาธิตการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นการรักษามรดกภูมิปัญญาที่แสดงถึงทักษะฝีมือเชิงช่างของครูและทายาท
ในโอกาสนี้ ทรงสนพระราชหฤทัยและมีพระราชปฏิสันถาร กับครูช่างและทายาท อาทิ งานแทงหยวก โดยทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 จากจังหวัดเพชรบุรี งานเครื่องทองยัดสายแห่งบ้านกาด โดยทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558 จากอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และงานกระจกเกรียบโบราณ โดยครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2565 และงานเครื่องโลหะ โดยครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ปี 2562 จากจังหวัดนนทบุรี เป็นต้น
ต่อจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงทอผ้าไหมยกทองด้วยกี่ทอมือโบราณพันห้าร้อยตะกอ จากหมู่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ยังคงอนุรักษ์วิธีการทอผ้าไหมยกทองแบบโบราณ ยังคงไว้ซึ่งงานหัตถศิลป์อันล้ำค่าของคนไทย สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 14 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-28พฤษภาคม 2566 โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด ภูมิใจ ภูมิปัญญา สืบสานงานหัตถศิลป์ล้ำค่า คู่พระบารมี เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ที่ทรงเป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทยอันเป็นมรดกของแผ่นดิน ภายในงาน นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมไทยแล้ว ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยจากทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและเพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย อีกทั้งมีกิจกรรมทดลองทำงานศิลปหัตถกรรมด้วยตนเอง ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย ซึ่งสอนโดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสืบสาน และสืบทอดภูมิปัญญาศิลปหัตถกรรมไทยแก่ช่างฝีมือและ
ผู้สร้างสรรค์รุ่นใหม่สืบต่อไป