นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 86.9% ต่อจีดีพี คิดเป็น 15.09 ล้านล้านบาท แม้ภาพรวมจะปรับลดลงแต่รายไตรมาสปรับเพิ่มขึ้น 3.5% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะบัตรกดเงินสด และบัตรในห้างสรรพสินค้า ทำให้ต้องมาดูแลเรื่องนี้ให้รอบคอบพยายามทำให้หนี้ลดลง โดยเรื่องปัญหาหนี้เป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล มองว่าอาจยังไม่ระเบิดเวลาในตอนนี้ แต่หนี้เป็นปัญหาต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะกระทบการใช้จ่ายครัวเรือน

ขณะเดียวกันตัวเลขหนี้ด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอลล่าสุดอยู่ที่ 2.62% ต่อสินเชื่อรวม ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่สินเชื่อรถยนต์มีเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นบ้าง และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือค้างชำระแต่ไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 จาก 11.1% มาอยู่ที่ขยายตัว 13.7% ในไตรมาส 3 ปี 2565 ขณะที่จากผลกระทบในช่วงโควิด-19 ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลมีหนี้เสียสูงที่สุด 7.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องอาศัยความร่วมมือกัน ช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้และสร้างวินัยทางการเงิน จากปัญหาหนี้ที่มีตอนนี้มาจากช่วงโควิด-19 ที่คนต้องกู้หนี้ยืมสินเข้ามา จนทำให้หนี้สูงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ฉุดรั้งการเติบโตของประเทศ ดังนั้นธนาคาร นอนแบงก์ ผู้ให้บริการทางการเงินและภาครัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หนี้ครัวเรือนปรับลดลง และต้องให้ความรู้กับประชาชนว่า ก่อนก่อหนี้ต้องดูความสามารถชำระหนี้ของตนเอง ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ไม่สร้างหนี้เพิ่มขึ้น ก่อนจะซื้อสินค้าอะไรดูว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งภาคธุรกิจไม่อยากจะกล่าวถึงมากนัก เพราะเป็นเรื่องการตลาด เช่นการผ่อน 0% เป็นต้น

“หนี้ครัวเรือนแนวโน้มไตรมาสแรกปีนี้เป็นเรื่องที่กังวลเป็นระเบิดเวลา แม้ที่ผ่านมาจะแก้ไขอย่างต่อเนื่อง จากฝั่งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ร่วมทำงานต่อเนื่อง แต่หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นมาแล้ว ยากจะให้ลดลงในเวลาอันสั้น และต้องใช้เวลา รวมถึงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย กลุ่มคนระดับบุคคลต้องเข้าใจกำลังการใช้จ่ายของตนเอง ความต้องการการซื้อสินค้า อะไรไม่จำเป็นต้องลดละเลิกบ้าง เพื่อจัดการหนี้เดิมให้เรียบร้อยก่อนสร้างหนี้ใหม่”