จังหวัดตรัง เดินหน้าส่งเสริม ยกระดับคุณภาพสินค้าและประชาสัมพันธ์ “พริกไทยตรัง” ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อต่อยอดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้สามารถสร้างมูลค่าได้เพิ่มมากขึ้น

นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากการร่วมสังเกตการณ์ในการตรวจประเมินคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) สินค้าพริกไทยตรัง ณ บ้านสวนมรดกพริกไทยตรัง ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง กับผู้แทนกรมทรัพย์สินทางปัญญา และคณะทำงานควบคุม เพื่อตรวจประเมินคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) สินค้าพริกไทยตรัง นั้น ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของจังหวัดตรัง เหมาะสมกับการปลูกพริกไทย ทำให้พริกไทยตรังมีรสชาติเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่น ซึ่งพื้นที่ปลูกพริกไทยในจังหวัดตรังจากข้อมูลการปลูกพริกไทยประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง พบว่า ครอบคลุมทั้ง10 อำเภอของจังหวัดตรัง มีพื้นที่เพาะปลูก 105.41 ไร่เกษตรกรประมาณ 562 ราย

สำหรับ พริกไทยตรัง ผลิตจากพริกไทยสายพันธุ์พื้นเมือง (ปะเหลียน) หมายถึง พริกไทยอ่อน พริกไทยแห้งชนิดเม็ดและป่น ที่มีรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์ ปลูกและแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง มีรายการสินค้า 5 รูปแบบได้แก่ (1) พริกไทยอ่อน (2) พริกไทยดำแบบเม็ด (3) พริกไทยขาวแบบเม็ด (4) พริกไทยดำแบบป่น (5) พริกไทยขาวแบบป่น ซึ่งผลการศึกษาจุดเด่นของ “พริกไทยตรัง” พบว่า ปริมาณสารพิเพอร์รีนที่พบในพริกไทยตรัง (พริกไทยดำ) มีปริมาณสูงกว่าพริกไทยที่ขายในตลาดทั่วไป มีกลิ่นหอมและรสชาติที่โดดเด่นใกล้เคียงกับของ กำปอต ประเทศกัมพูชา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพริกไทยที่ดีที่สุดในโลก

โดย“พริกไทยตรัง” ในปัจจุบันมีการปลูกกระจายทั่วไปทั้งจังหวัด ด้วยกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คือ รสชาติเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมว่าพริกไทยทั่วไป ทำให้พริกไทยตรังเป็นที่นิยมในการนำเป็นส่วนผสมในอาหารต่างๆเพื่อให้รสชาติอาหารดียิ่งขึ้น จังหวัดตรัง จึงได้เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการ ในการยกระดับคุณภาพสินค้าและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก โดยได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานและขับเคลื่อนไปด้วยกันให้เกิดการส่งเสริมแบบครบวงจร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อต่อยอดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้สามารถสร้างมูลค่าได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมทั้งเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์กับภาคท่องเที่ยวและบริการอีกด้วย อาทิ สนับสนุนด้านการพัฒนา องค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการและการทำการตลาดอย่างมีทิศทาง พร้อมทั้งขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง