สภาพัฒน์แนะเร่งผลิตบุคลากรไอที ดิจิทัล ต้องการแรงงาน 2-3 หมื่นคนต่อปี ระบุพฤติกรรมคนรุ่นใหม่เลือกงาน คำนึงถึงค่าตอบแทนสูงและความสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่ 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปี 2566 สถานการณ์การจ้างงาน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 39.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งการจ้างงานในภาคเกษตร ที่มีการทำนาปรังเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะในส่วนของโรงแรมและภัตตาคาร สอดรับกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่ชั่วโมงการทำงานขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติ ภาพรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.1 ชม./สัปดาห์ สูงกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 40.8 ชม./สัปดาห์ โดยในส่วนของภาคเอกชนอยู่ที่ 44.3 ชม./สัปดาห์

สำหรับผู้เสมือนว่างงาน ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วปรับตัวลดลง 11.3% โดยมีผู้เสมือนว่างงานอยู่ที่ 3.4 ล้านคน แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ด้านค่าจ้างแรงงาน ขณะนี้มีการปรับตัว ขยายตัวดีขึ้น โดยเฉลี่ยในภาพรวมเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยค่าจ้างเฉลี่ยภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 15,118 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,722 บาทต่อคนต่อเดือน

ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานปรับลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 1.05% แต่ถ้าดูการว่างงานในระบบในไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวนผู้ว่างงานในระบบขยับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.9% ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทต่างๆแถลงผลประกอบการ และมีการแจกโบนัสกันแล้ว ทำให้คนทำงานในโรงงานต่างๆส่วนหนึ่งอาจจะมีการย้ายงานไปยังบริษัทที่ผลประกอบการดี ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนลดลงอยู่ที่ 17.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า รวมถึงผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนปรับลดลงเช่นกัน

"การว่างงานในทุกระดับการศึกษาปรับตัวลดลงทั้งหมดทั้งอาชีวะ วิชาชีพขั้นสูง และอุดมศึกษา ส่วนการว่างงานระยะยาวก็ปรับดีขึ้นเช่นกัน ฉะนั้นโดยรวมจะเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนผู้มีงานทำมากขึ้น และอัตราการว่างงานในระบบลดลงเรื่อยๆ ทำให้การบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวได้"

ทั้งนี้สภาพัฒน์ยังติดตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานคุณภาพในกลุ่มแรงงานดิจิทัลและไอที เนื่องจากสังคมปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่สถาบันการศึกษามีผู้สำเร็จการศึกษา นักเรียน นักศึกษาได้เพียง 1.4 หมื่นคนต่อปี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานสายไอทีประมาณ 2-3 หมื่นอัตราต่อปี และต้องติดตามพฤติกรรมการเลือกงาน โดยคำนึงถึงค่าตอบแทนสูงและความสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่ และชี้แนะการหางานทำตามความต้องการของแนวโน้มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนต้องปรับหลักสูตรรองรับความต้องการของเอกชนโปรแกรมเมอร์ งานออกแบบดิจิทัล เทคโนโลยีชั้นสูงสอดแทรกในทุกอุตสาหกรรม

"พฤติกรรมการเข้าสู่การทำงานของบุคลากรรุ่นถัดไป ซึ่งมีการสำรวจจากภาคเอกชน จากเยาวชนอายุประมาณ 15-25 ปี กลุ่มตัวอย่างกว่า 19,000 คน พบว่าส่วนใหญ่ ต้องการงานที่มีค่าตอบแทนสูง สอดคล้องกับความต้องการหรือความชอบของตัวเอง รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของชีวิต โดยในอนาคตผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับระบบการจ้างงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของคนที่จะเข้ามาทำงาน แต่อันนี้ต้องทำด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพราะว่าจะกระทบกับผู้ที่ทำงานอยู่เดิมด้วย"