มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หรือสถาบัน KAPI ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 หรือ Thailand Green Design Awards (TGDA) 2023 โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัล จำนวน 13 รางวัลใน 3 ประเภท ได้แก่  รางวัลผลงานประเภทประหยัดพลังงาน (Energy Saving) จำนวน 2 รางวัล

รางวัลผลงานประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) จำนวน 8 รางวัล รางวัลผลงานประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต (Life Enhancement) จำนวน 3 รางวัล นอกจากนี้ยังมีรางวัล Popular Vote TGDA 2023 และ รางวัลเกียรติยศ Honorary Awards มอบให้เป็นเกียรติและเป็นกำลังใจให้กับบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงาน องค์กร ผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจด้านคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การยกระดับคุณภาพชีวิต และ การตอบแทนทางสังคม เป็นต้น ทั้งนี้ ดร.พิลาณี ไวถนอมสัตย์ ผู้อำนวยการสถาบันผลิตผลเกษตรฯ นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ ทูต TGDA  ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ดร.สิทธา สุกขสิ  คณะกรรมการตัดสินรางวัล  TGDA 2023 และ เครือข่ายพันธมิตรผู้สนับสนุนโครงการ ได้แก่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด  บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล๊อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทบีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) บริษัทพิสิษฐ์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด  และบริษัทสหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ณ สยามพารากอน

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนโยบายเชิงรุกและให้การสนับสนุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ได้จัดการประกวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรประเภทไม่ใช่อาหาร ภายใต้ชื่อ “Thailand Green Design Awards” หรือ TGDA ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การออกแบบ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ผลิตต้นแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสร้างจิตสำนึก และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมสู่สังคมในทุกระดับ และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนิสิตทั้งภายในมหาวิทยาลัยและจากสถาบันอื่นๆ บุคลากรทุกระดับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้ที่สนใจ

“สำหรับการประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 หรือ Thailand Green Design Awards (TGDA) 2023 มีผลงานที่น่าสนใจที่ทุกท่านสามารถนำเอาองค์ความรู้ ไปพัฒนาหรือประยุกต์ใช้กับงานด้านการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี หลายชิ้นงานสามารถนำไปขยายธุรกิจสร้างความเจริญก้าวสู่อุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศและการพึ่งพาตนเองได้ ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล และขอให้กำลังใจสำหรับทุกท่านในการประดิษฐ์ คิดค้น สร้างสรรค์ผลงานส่งเข้ามาร่วมการประกวดในโอกาสต่อไป  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมให้บริการและร่วมมือกับทุกท่านในการสร้างสรรค์ผลงานและทำกิจกรรมสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ประเทศชาติ ในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน”

ดร.พิลาณี ไวถนอมสัตย์ ผู้อำนวยการสถาบันผลิตผลเกษตรฯ  กล่าวว่า TGDA 2023 มุ่งเน้นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรอบอย่างไร กระตุ้น เกื้อหนุนและเอื้อประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร รวมไปถึงการออกแบบและพัฒนาผลงานที่ยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน เช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ หรือ ผู้ทุพพลภาพ และการสร้างสังคมที่ยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน โดยมีการตัดสินการประกวดเป็น 3 ประเภท ได้แก่ประเภทประหยัดพลังงาน มีผู้ส่งผลงาน 9 ผลงาน ได้รับรางวัล 2 ผลงาน ประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีผู้ส่งผลงาน 88 ผลงาน ได้รับรางวัล 8 ผลงาน  และประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต 24 ผลงาน ได้รับรางวัล 3 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 121 ผลงาน  และ รางวัล Popular vote จากประชาชนที่มาร่วมโหวตในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2566และการกดไลค์กดแชร์ในเพจ ของ TGDA ได้แก่ ผลงาน MAXION GREEN WHEEL โดย บริษัท แม็กซิออน วีลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นล้อรถยนต์นวัตกรรมที่ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบากว่าล้อปกติทั่วไปถึง 30% เพื่อลดอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานของรถยนต์ ส่งผลให้ลดการสร้าง CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งล้อรุ่นนี้ถูกออกแบบด้วยวิธีการทางวิศวกรรมขั้นสูง ใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่าที่สุด ด้วยการออกแบบ TOPOLOGY & OPTIMIZATION และ กระบวนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์และรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้แหล่งพลังงานสะอาดจากฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิตล้อ และใช้วัสดุล้อและเศษชิ้นส่วนล้อในกระบวนการผลิต (SCRAP) ที่สามารถนำกลับมาหลอมใช้ใหม่ได้

สำหรับรางวัลเกียรติยศ Honorary Awards ในปีนี้ มี 4 โครงการ ได้แก่

1.โครงการวน (WON project) โดย บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ทำแอพพลิเคชั่น รับขยะ มาทำการรีไซเคิล Post Consumer Recycle Materials โดยนำถุงและฟิล์มยืดมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสินค้าต่างๆ ผ่านการออกแบบเชิง Eco-design นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยทุก 1 กก. เศษพลาสติก จะมีการบริจาคเงิน 5 บาทให้กับมูลนิธิสิ่งแวดล้อม สำหรับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของโครงการวนดำเนินการผ่านช่องทาง Facebook Fan page ชื่อ “Wontogether” เพื่อรับบริจาคถุงและฟิล์มพลาสติกยืดที่แห้งและสะอาด

2.โครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste โดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด สร้างต้นแบบการจัดการขยะแบบครบวงจร ด้วยการเปิดให้บริการ Recycle Collection Center หรือ จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้ว แบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) แห่งแรกในประเทศไทย โดยเปิดให้ลูกค้าและประชาชนคนทั่วไปสามารถนำขยะที่ทำความสะอาด และคัดแยกแล้วจากที่บ้าน มาฝากส่งต่อไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบ และนำมาเข้ากระบวนการอัพไซคลิ่งเพิ่มมูลค่า ณ จุดไดร์ฟทรู Recycle Collection Center ที่ตั้งอยู่ 2 แห่งในสยามพารากอน ได้แก่ บริเวณลานจอดรถทัวร์หลังสยามพารากอน ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนวัดปทุมวนาราม และบริเวณทางออก 4 ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพารากอน กับวัดปทุมวนาราม

3.โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องจากพระราชดำริ โดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้ฝึกทักษะอาชีพที่หลากหลาย และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่คนทุกกลุ่มในพื้นที่ ผ่านธุรกิจเพื่อสังคม 5 ประเภท ได้แก่ หัตถกรรม เกษตร อาหารแปรรูป คาเฟ่ และท่องเที่ยว โดยรายได้จากสินค้าและบริการกลับคืนสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ด้วยการต่อยอดการพัฒนาของคนในพื้นที่เอง ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ดอยตุง เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดของเสียตลอดกระบวนการผลิต (Zero waste) และเน้นแนวคิด Circular Economy ตลอดกระบวนการ

4.โครงการ Traffy Fondue โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โครงการเริ่มขึ้นในปี 2560 โดยพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการบริหารและแก้ไขปัญหาเมืองและชุมชน ชื่อ Traffy Fondue ซึ่งผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงมาพัฒนาเป็นระบบ อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analysis) และ Chatbot สู่แพลตฟอร์มสำหรับสื่อสารเรื่องปัญหาของเมือง ระหว่างประชาชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบ เช่น ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาขยะ ปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า และสามารถติดตามสถานะการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ โดยหน่วยงานจะได้รับแจ้งรายงานปัญหาที่มีข้อมูลเพียงพอต่อการดำเนินการ เช่น ภาพถ่าย, ตำแหน่งบนแผนที่ และสามารถให้ข้อมูลสถานะการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชน