วันที่ 19 พ.ค. 66 รายการโหนกระแส ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดการจับมือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล โดยสัมภาษณ์ คุณกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม, ดร.เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ , กฤดิทัช แสงธนโยธิน หัวหน้าพรรคใหม่ มาพร้อม อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ม.รังสิต / อดีต กกต.
ได้เสียงเข้ามาได้ยังไง ตกใจมั้ย?
กัณวีร์ : อาจไม่ตกใจ แต่เกินคาดไปนิดนึง การทำงานพรรคเป็นธรรมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ลงสนามการเมืองใหญ่ และเราได้เริ่มต้นทำงานการเมือง ตั้งแต่เดือนม.ค. ที่ผ่านมา ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่าในการเดินการเมืองในพื้นที่ แล้วเรากำหนดยุทธศาสตร์พื้นที่ของเราในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส บวกกับ 4 อำเภอของสงขลา การเดินของเราสามเดือนครึ่งเราคิดว่าน่าจะได้คะแนนขึ้นมา ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้เป็นปาร์ตี้ลิสต์ 1.8 แสนคะแนน มันเกินความคาดหมาย
คนทั่วทั้งประเทศไปหย่อนบัตรเขียวให้พรรคเป็นธรรม จนเราได้เข้ามาเพราะเสียงเราเกิน?
กัณวีร์ : ครับแล้วในพื้นที่ปาตานี สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้คะแนนบัญชีรายชื่อหมื่นกว่าคะแนน แต่เราได้ส่วนใหญ่จากพื่นที่อื่นๆ 1.7 แสนคะแนน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ฝั่งภาคเหนือตอนบน และฝั่งที่มีทหารอยู่เยอะ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ถ้าการวิเคราะห์ของเราว่าต่อไปเราจะเดินอย่างไร มันเป็นเรื่องตัวนโยบายของพรรคที่ไปสะกิดใจพ่อแม่พี่น้อง ครอบครัวทหารของเรา ทำให้มีการลงคะแนนเสียงค่อนข้างเยอะในพื้นที่ตรงนั้นครับ
พอเราได้เข้ามาแล้ว เราถูกฝั่งก้าวไกลดึงเราเข้ามาเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ตอนเขาติดต่อมา ใครติดต่อ?
กัณวีร์ : วันที่ 14 เลือกตั้งเสร็จผลคะแนนออกมาประมาณตีสองตีสามอย่างไม่เป็นทางการ แต่ค่อนข้างเป็นทางการแล้วว่าพรรคเป็นธรรมเราได้หนึ่งที่นั่งในบัญชีรายชื่อ วันที่ 15 ตอนกลางวัน คนติดต่อมาคือทีวี เพราะเห็นคุณพิธาพูดว่ากำลังจะติดต่อพรรคเป็นธรรมเข้าร่วมรัฐบาล อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราใจฟู พูดตรงๆ ครับ
วันนั้นคุณพิธาแถลงในทีวี มีการพูดถึงพรรคเป็นธรรม คุณกัณวีร์ก็ลงทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กเลย?
กัณวีร์ : ก็ดีใจนะครับ ถ้าเป็นแบบนี้คนติดต่อจริงๆ คือคุณพิธา ติดต่อผ่านทีวี (หัวเราะ) แต่คนที่ลงว่าพร้อมร่วมรัฐบาลไม่ใช่ผม เป็นหัวหน้าพรรค ผมลงตอนหลังขอบคุณหลังจากได้รับการติดต่อโดยการโทรศัพท์เข้ามาอย่างเป็นทางการ โดยตรงกับผม ผ่านทางท่านเลขาธิการพรรคก้าวไกล มีการพูดคุยกัน ผมก็บอกว่าขอบคุณและพร้อม
ตกใจมั้ยคุณพิธามองเรา?
กัณวีร์ : ผมว่าเป็นการมองในเชิงอุดมการณ์และ*/การเดินทางด้านการเมือง การสร้างประชา
ธิปไตยเสียมากกว่า มีหลายครั้งที่พรรคเป็นธรรมและก้าวไกล ได้มีการพูดคุยในเวทีดีเบตต่างๆ และนโยบายเราค่อนข้างสอดคล้องกัน อุดมการณ์ด้านประชาธิปไตยเป็นอย่างเดียวกันในการเลือกประชาชนเป็นส่วนกลาง ฉะนั้นอาจจะไม่ตกใจ แต่ภูมิใจเสียมากกว่า ว่าพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์อย่างเดียวกัน แล้วพอมองพรรคเรา พรรคเป็นธรรมเป็นพรรคเล็ก ได้แค่ 1 ที่นั่ง แต่ว่าก้าวไกลได้พูดประกาศออกมาอย่างชัดเจนในสื่อสาธารณะว่าจะชวนพรรคเป็นธรรมร่วมรัฐบาลก็แสดงว่าทั้งนโยบายและอุดมการณ์ของเราสอดรับการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย
ได้มีการพูดคุยกับคุณพิธามั้ยว่ามองอะไรที่ตัวเราหรือเป็นธรรม?
กัณวีร์ : ผมเห็นคุณพิธาพูดเรื่องการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานีของเรา คุณพิธาให้ความสำคัญกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่ เพราะว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระแห่งชาติ เพราะประเทศไทยไม่ได้มองตรงนี้มาอย่างยาวนาน ผมว่าตรงนี้เป็นโอกาสในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของเรา
มุมดร.เชาวฤทธิ์ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ ตอนแรกไม่มีอยู่ในรายชื่อด้วย เราหวังอยู่มั้ยว่าเขาจะเรียกเราเข้ามา?
ดร.เชาวฤทธิ์ : ก็หวังอยู่ คิดอยู่ในใจลึกๆ
อยู่ดีๆ ใครเป็นคนติดต่อ?
ดร.เชาวฤทธิ์ : พอดีได้รับการประสานจากคุณพิจารณ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ท่านโทรไปหาว่าอยากจะเชิญมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ก็ถามว่าเรื่องนโยบายพรรคเป็นยังไง สอดคล้องกันมั้ย ผมดูนโยบายแล้วก็สอดคล้องกันดี ก็คิดว่าการที่มาร่วมกับพรรคก้าวไกล ผมคิดว่าพรรคพลังสังคมใหม่เราเดินหาเสียงลงพื้นที่มาสองปีกว่า ผมได้รับปัญหาจากพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก เรื่องปากท้อง ความเดือดร้อน ความเหลื่อมล้ำตลอดจนถึงเรื่องเกษตรกร เรื่องผลเกษตรที่ทำแล้วขายไม่ได้ราคา ปลูกข้าวโพดปลูกอะไรก็ขาดทุน ราคาปุ๋ยแพง ผมก็เลยคิดว่าจะทำยังไง ให้นโยบายพรรคพลังสังคมใหม่ที่เราได้ไปเสนอให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้นำนโยบายส่วนนี้ไปสู่การปฏิบัติให้กับพี่น้องประชาชน ได้รับนโยบายพลังสังคมใหม่ได้ ผมเลยตัดสินใจรับปากคุณพิจารณ์ไปบอกว่าผมยินดีจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล โดยมีคุณพิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30
ตกใจมั้ย เหมือนบางท่านบอกว่าคิดว่าคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกหรือเปล่า?
ดร.เชาวฤทธิ์ : ไม่ได้คิดครับ เพราะเราก็รู้ว่าเรามีความพร้อมอยู่แล้ว ฟังเสียงเขาติดต่อมาก็มั่นใจในตัวเรา ผมก็อายุมากแล้ว ก็อยากทำอะไรให้กับบ้านเมือง ให้ประเทศไทยอยู่แบบสงบสุขสักที เราก็ต้องเสียสละ
ที่ผ่านมาดูไม่สงบสุขเหรอ?
ดร.เชาวฤทธิ์ : คุณหนุ่มลองคิดดูนะ พรรคก้าวไกลได้เสียงฉันทามติให้มาบริหารประเทศ ได้ 14 ล้านกว่าเสียง ท่านคิดดูสิ ประชาชนต้องการอะไร เขาอยากเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนรัฐบาล ที่ผ่านมาไปไหนก็แล้วแต่เจอแต่ประชาชนมีความลำบาก เหลื่อมล้ำ มีความยากจน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมันห่างกันเยอะ ผมมาดูนโยบายพรรคก้าวไกลก็ตรงกับพรรคพลังสังคมใหม่อยู่หลายๆ เรื่อง ยกตัวอย่างเบี้ยผู้สูงอายุตรงกัน สองเรื่องที่ดินทำกิน สามการกระจายอำนาจ แยกองค์กรปปกครองท้องถิ่นออกจากกระทรวงมหาดไทย เป็นการกระจายอำนาจให้เต็มที่ครับ ทุกวันนี้การกระจายอำนาจตามพรบ.2542 ตามแผนพรบ.เขาบอกว่าภายในปี 50 รัฐต้องกระจายทั้งงานทั้งเงินทั้งงบประมาณให้ท้องถิ่น เป็นจำนวน 35 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกวันนี้ปี 66 ผ่านมากี่ปีแล้วครับ 20 กว่าปีแล้ว ท้องถิ่นยังได้ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
อีกหนึ่งท่าน เพิ่งมาถึง พรรคล่าสุดพรรคที่ 9 ที่ประกาศแล้วว่าพรรคก้าวไกลดึงพรรคนี้มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคใหม่ กฤดิทัช แสงธนโยธิน หัวหน้าพรรค ได้รับเทียบเชิญเมื่อไหร่?
กฤดิทัช : จริงๆ เมื่อคืนครับ 2-3 ทุ่มครับ คนติดต่อไปคือท่านรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
คุณตกใจมั้ย?
กฤดิทัช: ไม่ได้ตกใจ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราคำนึงถึงศักยภาพตัวเองว่าเราเป็นพรรคเสียงเดียว ดังนั้นที่ผ่านมาก็มีคนถามว่าเราจะเข้าร่วมรัฐบาลมั้ย เรามองว่าเราเป็นพรรคเสียงเดียว เราก็คิดว่าถ้าเราทำงานฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ เราก็ทำงานฝ่ายค้านได้ ก็คิดมาตลอด และไม่ได้ต้องเข้าร่วมฝ่ายรัฐบาลหรืออะไร แต่เผอิญก่อนหน้านี้มีคนถามเข้ามาว่าเราจะร่วมมั้ย เราก็บอกว่าเขายังไม่ได้ติดต่อมา แล้วเขาก็ติดต่อมาเมื่อวาน
ในใจลึกๆ คิดว่าเขาจะติดต่อมาหาเรามั้ย?
กฤดิทัช : ไม่คิดเลยครับ (หัวเราะ) เราคิดว่าเราอยู่ตรงไหนก็ได้ เรานำเสนอนโยบายพรรคใหม่ออกไป ประชาชนตอบรับและเลือกเรามาเป็นตัวแทน เราไม่คำนึงว่าต้องอยู่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เราทำงานได้ทั้งหมด เราคิดแค่นั้น เราเลยอยู่นิ่งๆ ถ้าไม่มีการให้เข้าไปร่วมรัฐบาล เราทำงานด้านไหนก็ได้ เราคิดแค่นั้น
คิดว่าก้าวไกลเล็งเห็นตรงจุดไหนของเรา?
กฤดิทัช : จริงๆ ปัญหาบ้านเมืองเรามันบิดเบือนด้วยกฎเกณฑ์กติกาที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเยอะแยะ ผมก็เชื่อว่าวันนี้อย่างที่เราทราบกัน ฉันทานุมัติของคนไทยส่วนใหญ่ 14 ล้านเสียง มีฉันทามติว่าให้เฉพาะพรรคนี้ และพรรคเพื่อไทย ที่มีคะแนนเสียงถล่มทลาย ฉะนั้นมันเป็นฉันทานุมัติของพี่น้อง ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ก็ถึงเวลาแล้วที่บ้านเมืองเราจะเข้าสู่ภาวะปกติ ฉะนั้นในเมื่อวันนี้พรรคเสียงข้างมาก เป็นสิทธิ์ของพรรคโดยชอบธรรมที่จะฟอร์มรัฐบาล ตรงนี้ก็เลยคิดว่าพรรคก้าวไกลอาจเล็งเห็นว่าเสียงหนึ่งเสียง ซึ่งเราก็เป็นพรรคใหม่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ฉะนั้นเราไม่มีฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล เราก็คิดว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์ให้ชาวบ้าน แล้วที่สำคัญคือจะทำให้ประเทศเราพัฒนาไปตามการเมืองที่ถูกต้องถูกรูปแบบก็เป็นเรื่องที่ดี เราถึงเข้าร่วม
มุมเป็นธรรม ถ้าวันนี้เขามอบหมายให้ คิดว่าความถนัดของคุณ อยากอยู่กระทรวงไหน?
กัณวีร์ : จริงๆ ตั้งแต่วันแรกที่คุณพิธาได้พูดออกมาว่าจะชวนพรรคเป็นธรรม คุณพิธาได้พูดชัดเจนวันที่ 15 ว่าเอาพรรคเป็นธรรมเข้ามาเพราะเราเสนอนโยบายการสร้างสันติภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หรือปาตานีของเรา ฉะนั้นการสร้างสันติภาพที่เกิดขึ้น มันมีหลายกระทรวงจริง ๆ ถ้าจะบอกกระทรวงมีบริบททางการต่างประเทศ มีบริบทในความมั่นคงภายในประเทศ มีบริบทมหาดไทย ฉะนั้นอยู่ตรงไหนเราทำงานได้ ตราบใดก็ตามถ้ารัฐบาลชุดหน้าให้เราทำงาน เราสามารถนั่งได้ทุกกระทรวง เราไม่มีการต่อรองนะครับ แต่เราขอทำงานเนื้อหาเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น อีกอย่างที่ถนัดมาก ทุกนโยบายที่เราสร้างออกมาเป็นนโยบายที่มาจากประชาชน เราฟังเสียงประชาชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ฉะนั้นทุกนโยบายพรรคเป็นธรรมของเราได้แฝงตัวสิทธิมนุษยชนไว้ตรงกลาง เพราะฉะนั้นการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญ เรายืนยันว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่เอาสิทธิมนุษยชนมาใส่ด้วย ฉะนั้นหน่วยงานกระทรวงไหนก็ตาม ที่สามารถนำเรื่องนี้เข้าไปแทรกอยู่ในตัวนโยบายหลักๆ ของประเทศ เราสามารถเข้าทำงานได้หมดเลย
ดร.เชาวฤทธิ์ล่ะ ถ้าได้รับมอบหมาย คิดว่าจะไปอยู่ตรงไหน?
ดร.เชาวฤทธิ์ : ผมที่เข้ามาพรรคก้าวไกล ผมไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าผมอยากนำนโยบายของพรรคมาปฏิบัติ ไม่ว่าการเกษตร ผมอยากดูแลพี่น้องเกษตรของผม ผมอยู่จังหวัดน่าน พี่น้องเกษตรทำการเกษตรขาดทุนทุกปี หรือว่าอันดับสอง ก็อยากดูแลเรื่องการศึกษา เพราะผมจบปริญญาเอกเรื่องบริหารการศึกษา อยากปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยให้มันดีขึ้นกว่าทุกวันนี้
ทุกวันนี้ไม่ดีใช่มั้ย?
ดร.เชาวฤทธิ์ : มันล้าหลังกว่าเวียดนามอีก
การล่วงละเมิดจากครูต่างๆ นานา จัดการหมดเลยมั้ย?
ดร.เชาฤทธิ์ : ต้องทำให้เรียบร้อย ปฏิรูปโครงสร้างของกระทรวงศึกษา ตั้งแต่รมต. จนปลัดกระทรวง จนครูผู้สอนอะไรต่างๆ นี่คือความตั้งใจ อยากปฏิรูปการศึกษาให้มันดีขึ้น อีกเรื่องผมมีแนวคิดใหม่เรื่องประกันสังคม อยู่ที่กระทรวงแรงงาน อยากเพิ่มสวัสดิการสมาชิกประกันสังคมให้เทียบเท่ากับสวัสดิการข้าราชการ เทียบเท่าได้ พ่อแม่ก็เบิกได้ สิทธิ์รักษาพยาบาลเทียบเท่าเลย ผมอยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่มีปัญหา ผมทำได้หมด
น่าจะเป็นเกษตร ศึกษาธิการ และแรงงาน จะได้ผลักดันในสิ่งที่ตั้งใจได้ พรรคใหม่ล่ะครับ?
กฤดิทัช : นโยบายเราคือปราบทุจริตคอรัปชั่น ล้างบางทุจริต สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายหลักที่เราอยากทำมากๆ เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่สำคัญประเทศจีนเขาเจริญมาได้อย่างทุกวันนี้ เขาปราบทุจริตอย่างจริงจัง มันทำให้ประเทศเขาพัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดเลย ฉะนั้นถามว่านโยบายนี้เป็นนโยบายหลักที่เราอยากทำ เกษตรเราก็มีความสนใจ เพราะพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่เรายังยากจน ปัจจุบันมีนโยบายดีๆ ที่เราอยากเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร เรื่องแหล่งน้ำเรื่องต่างๆ สำคัญ ประเทศไทยเราส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพกสิกรรมอยู่ เรื่องหนี้สินเรื่องอะไรต่างๆ นโยบายคล้ายกันหมด แม้แต่เรื่องการศึกษา ปัญหาอย่างนึงของเรามาจากการศึกษา ผมเห็นด้วยกับท่านดร. ว่าเราควรปฏิรูปการศึกษา อย่างชัดเจน ตรงนี้ก็ไปอยู่ที่การปฎิรูประบบราชการด้วย ก็อยากทำในนโยบายที่เรานำเสนอ
วันจันทร์นี้จะเห็น MOU วันอาทิตย์จะได้คุยกันก่อนมั้ย?
กฤดิทัช : น่าจะมี เพราะท่านรองที่ติดต่อมา บอกว่าเดี๋ยวจะมีร่าง MOU ให้ดู ตรงไหนเราเสริมได้ก็เสริม แต่ผมเห็นแล้วว่านโยบายก้าวไกล ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะปฏิรูประบบราชการ เกษตร หรือเรื่องอะไร ฉะนั้นเราคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ยังนิดเดียว ในส่วน 112 ที่เราขอสงวนท่าทีตรงนี้ ว่าเรายังอยากให้เกิดความชัดเจน ผมพูดตรงๆ ไม่อยากอ้อมค้อม ผมคิดว่าปัญหาสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งก็คือส่วนนี้ แต่ 112 ไม่ได้อยู่ใน MOU อยู่แล้วครับ ก็ทำให้เราสบายใจ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง
กัณวีร์ : ตัว MOU มี 3 ทิศทาง ต้องเข้าใจง่าย ต้องครอบคลุม และกำหนดทิศทางได้ ดังนั้น MOU ตัวนี้คงไม่ลงลึกรายละเอียด คงเป็นกรอบการทำงานว่าประเทศเราจะเดินหน้าก้าวหน้าไปได้อย่างไร พวกเรามีโอกาสในการทำงานเจาะลึกในตัวนโยบายต่อไปในอนาคต
อ.สมชัย เป็นอดีตกตต.เก่า วิเคราะห์เอาไว้หลายเรื่อง เรื่องนึงคือคุณพิธาการเป็นนายกฯ ต้องฝ่าสองด่าน ทำไมถึงมองแบบนั้น?
อ.สมชัย : ก็เป็นไปตามระบบนะครับ คือจากวันนี้เป็นเรื่องการที่ว่าต้องประกาศ การรับรองส.ส. ซึ่งภายใน 60 วัน ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร หลายคนกังวลว่าจะเกิดใบเหลืองใบแดงให้กันมหาศาลหรือเปล่า จะทำให้พรรคอันดับหนึ่งไม่เป็นอันดับหนึ่งหรือไม่ ประเด็นนี้ผมไม่กังวล ดูจากพฤติกรรมกกต.ในอดีตที่ผ่านมาชักฝืด ชักใบเหลือง ใบแดงฝืดมาก ปี 62 มีใบส้มใบเดียว นอกจากนั้นก็ก่อให้เกิดความเสียหายตรงที่ว่ามีการไปร้องกันภายหลัง มีการฟ้องดำเนินคดีกันภายหลัง กกต.แพ้ด้วยนะ แพ้คดีแพ่ง 63 ล้านบาท ขณะนี้ชั้นต้นแพ้ อุทธรณ์แพ้ อยู่ในศาลฎีกา ซึ่งถ้าศาลฎีกาชี้ว่าแพ้อีก ก็ต้องเอาเงินหลวงจ่ายไปก่อน 63 ล้าน ก็อาจต้องมีการสอบผู้รับผิดฐานละเมิด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคือใคร จะหารเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ตรงนี้ทำให้หนึ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการให้ใบเหลือง ใบแดง ใบส้มในอดีต ฝืดมาก ดังนั้นคงไม่มาแจกกันคล่องตัวเป็นสิบใบ อาจจะไม่เกิด
ด่านแรกคืออะไร?
อ.สมชัย : เรื่องคุณสมบัติของคุณพิธา มีคนร้องตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง ก่อนเลือกตั้งก็มาร้องก่อนสัก 3 วันก่อนเลือกตั้ง โดยคุณเรืองไกร เป็นเรื่องที่ไปพบว่าคุณพิธาถือหุ้นสื่อ ซึ่งการถือหุ้นสื่อจะขัด เป็นลักษณะต้องห้ามการเป็นส.ส. การเป็นส.ส.จะมีคุณสมบัติอันนึงและต้องห้ามอีกส่วนนึง ข้อที่ 98(3) ถือหุ้นสื่อ ตรงนี้เมื่อร้องก่อนเลือกตั้งก็ดี หรือที่คุณสนธิญาไปร้องหลังเลือกตั้ง
พี่สนธิญา กราบเรียน แกไปร้องมาวันนี้เลย แกอยู่ในสาย พี่ไปร้องอะไรอีกแล้ว?
สนธิญา : ผมไม่ได้ร้อง ผมมาลักษณะว่าเร่งรัดคดีที่เขาร้องกันอยู่ให้มันจบเสียก่อนที่คุณพิธาจะไปสู่ตำแหน่งนายกฯ อย่างใสสะอาด
หวังดีว่างั้น?
สนธิญา : อาจว่าผมหวังดีประสงค์ร้ายอะไรก็แล้วแต่ แต่จุดประสงค์หลักของผมคือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะกรณีนี้ชัดเจน เมื่อวันที่ 11 พ.ค. เลขาธิการปปช. ท่านก็ออกมาแถลงว่าคุณพิธาได้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน มีถือหุ้นไอทีวีอยู่ 42,000 กว่าหุ้น และมีผู้ร้อง ไม่ว่าจะคุณเรืองไกร หรือคุณศรีสุวรรณ หรืออะไรก็ตาม ครบถ้วนกระบวนความไปแล้ว และไม่มีปัญหาอะไรทับซ้อน ประกอบกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจน มันก็เลยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเสียดีกว่าปล่อยให้เรื่องไปถึงคุณพิธาไปเป็นนายกฯ แล้วมาพิจารณากัน
ตอนนี้มีคุณเรืองไกรไปร้องแล้ว กตต.คงดูกันอยู่ ทำไมวันนี้เหมือนไปซ้ำหรือเปล่า?
สนธิญา : ไม่ได้ซ้ำ แต่ผมกราบเรียนโดยเบื้องต้นว่าคุณพิธาแกเองไม่ได้คิดว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรอกก่อนเลือกตั้ง ความคิดผมนะ แกคงไม่คิดไกลถึงขั้นจะได้ถึง 150 กว่ารายชื่อ แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้ ผมเข้าใจว่าเพื่อเป็นประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง ก็น่าจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ให้ครบถ้วนกระบวนความเสียแล้วจะไปสู่ตำแหน่งอะไรก็ตาม จะทำให้การทำงานเหล่านั้นเป็นไปได้อย่างสบายใจของทุกฝ่าย ก็เท่านั้นเองครับ
แต่หลายคนก็มองว่าพี่ไปร้องฝั่งก้าวไกลซึ่งอยู่คนละขั้ว เหมือนพี่ไปกลั่นแกล้ง?
สนธิญา : ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคไหนครับ ในตอนนี้
แต่เขารู้ว่าพี่อยู่อีกขั้วนึงอยู่แล้ว?
สนธิญา : แล้วผมจะไปแกล้งทำไม ถ้าไม่มีเหตุผมแกล้งเขาได้มั้ย
แสดงว่ามีเหตุ เลยต้องไปเร่งให้มีการดำเนินการ?
สนธิญา : ทุกคนต้องมีเหตุ และเมื่อมีเหตุก็สามารถตรวจสอบเพื่อนำไปสู่ความเป็นจริงได้ ในกรณีคุณพิธาท่านจะไปสู่ตำแหน่งอันดับหนึ่งของประเทศไทยคือนายกฯ นั่นแปลว่าต้องสะอาด
อยากให้โปร่งใส?
สนธิญา : โปร่งใสและใสสะอาด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสบายใจเฉิบโดยไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ก็เท่านั้นเองครับ
แต่อีกมุมพี่ประกาศเอาไว้เรื่องสว. ตอนนี้ฝั่งก้าวไกล รวมถึงพรรคร่วมบางพรรค เขามีการออกมาขอให้สว.โหวตให้คุณพิธาเป็นนายกฯ ถ้าก้าวข้ามมาสู่เรื่องส.ส. หรือสว. พี่บอกว่าสว.คนไหนที่มีการโหวตเดี๋ยวจะมัดรวมขอคืนเครื่องราชเลยนะ?
สนธิญา : ผมก็มีสิทธิ์ และผมแสดงสิทธิตามที่ผมพึงกระทำได้ มีอีกหลายคนที่คิดแบบนี้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 ด้วยประการทั้งปวง แต่ผมเห็นด้วยถ้าคุณแก้ไขคุณทำตามมติคนทั้งประเทศได้มั้ยล่ะ
เหมือนเราไปทึกทักด้วยมั้ย?
สนธิญา : ที่มีส่วนร่วมทุกคน ในการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ผมถือว่าร่วมกันกระทำเรื่องที่ไม่บังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
หมายความว่าถ้ามีส.ส. หรือสว.ท่านไหน ที่ไปยกมือให้คุณพิธาได้เป็นนายกฯ วันนึงถ้ามีการนำเรื่องราว 112 ไปแก้ในสภา ถึงวันนั้นพี่จะมัดรวม?
สนธิญา : ตั้งใจไว้อย่างนั้นเลยครับ เพราะในชีวิตผม ผมคัดค้านการกระทำการที่จาบจ้วงหรือแก้ไขสถาบันมาตรา 112 อยู่แล้ว
เขาบอกจะแก้ไขให้ดีขึ้น?
สนธิญา : การแก้ไข ไม่ว่าจะนิรโทษกรรม ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับผมนะ เพราะว่าผมโดนรอลงอาญาคดีหมิ่นประมาทอยู่ 2 คดี ผมก็ได้ประโยชน์นะ แต่ผมไม่รับ เพราะถ้าไปแลกกับมาตรา 112 เป็นเรื่องที่ผมยอมไม่ได้ และผมก็เข้าใจว่าคนไทยจำนวนมากก็ยอมไม่ได้กับประเด็นนี้ ชัดเจนมั้ย
เรื่องนี้ก็สุดทางเลย ถ้ามีสว.ท่านใดไปยก เมื่อไหร่เข้าสภา คุณกลับมาเช็กบิลเลย?
สนธิญา : เป็นสิทธิของผมที่เป็นพสกนิกรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ที่เราพึงทำได้ ภายใต้ความศรัทธาและเชื่อมั่น
อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไง?
อ.สมชัย : จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีคนไปร้องเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องมีใครไปติดตาม เพราะเป็นหน้าที่กกต. ครับ
สนธิญา : นั่นเป็นแนวคิดของอาจารย์
อ.สมชัย : ฟังก่อนสิ (หัวเราะ) ปกติแล้วเมื่อมีคำร้องเข้าไปที่กกต. ก็ต้องมีการลงรับเรื่องและเดินหน้าดำเนินการเรื่องนั้น เข้าใจว่ากกต.เองก็ต้องเดินหน้าตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้น เรียกฝ่ายต่างๆ มาชี้แจงข้อมูล นั่นก็คือต้องเรียกคุณพิธานั่นแหละมาให้ข้อมูลว่าถือหุ้นเป็นยังไง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็เป็นกระบวนการที่ต้องทำ กกต.ไม่ทำไม่ได้หรอกครับ ถ้าไม่ทำก็ไปร้องถึง 157 กันเลย
สนธิญา : ผมเร่งให้กระบวนการมันเร็วขึ้น จนไปสู่การได้ตำแหน่งนายกฯ และไม่คุ้มกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
คุณกลัวกกต.ไม่ทำงานว่างั้น?
สนธิญา : ไม่ใช่ครับ ผมไม่ได้กลัว เพราะกกต.ทำงานดี
อ.สมชัย : ถ้าทำงานช้าก็ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้ เดี๋ยวเขาทำงานช้า สนธิญาไปกับผมเลย ไปร้อง 157 กกต.ทั้งชุดเลย เอาออกให้หมดเลยถ้าทำช้า ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องกกต. เมื่อเขารับเรื่องแล้วก็ต้องดำเนินการ ผมถึงบอกว่าไม่ว่าจะมีอีกสักร้องสนธิญาไปร้องหรือไปเร่ง ก็ไม่ได้ทำให้เร็วขึ้นหรือช้าลง เขาก็ต้องทำตามหน้าที่อยู่แล้ว
สนธิญา : ผมมีแนวคิดอย่างนี้ ถ้าผมร้องเพื่อให้กกต.เร่งรัด แล้วกกต.ไม่ได้ดำเนินการในกรอบที่ผมคิดไว้ ก็จะนำไปสู่ผมไปร้องผู้ตรวจการ เพื่อร้องส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกทีนึง เพื่อให้กระบวนการนี้จบก่อนที่คุณพิธาเป็นนายกฯ
อ.สมชัย : ไปช่วยกันถอดถอนกกต.ก่อนดีมั้ย ถ้าทำช้า ผมก็มีเดตไลน์เหมือนกันว่ากกต.ควรพิจารณาเรื่องนี้ก่อนการเลือกนายกฯ ดังนั้นกกต.ถ้ายังปล่อยเรื่องนี้ให้ค้าง เดี๋ยวเราสองคนไปแจ้ง 157 กกต.เอามั้ย
สนธิญา : ดีครับ
อ.สมชัย : โอเค สัญญาหนาจอนะ
เรื่องสว.จะไปเรียกคืนเครื่องราชนะ?
อ.สมชัย : นั่นคุณสนธิญาหาเรื่องเอง ผมไม่เกี่ยว เพราะจริงๆ แล้วสิทธิในการโหวตของสภา ไม่ว่าจะเป็นส.ส. หรือสว.ก็แล้วแต่ เขามีสิทธิคิดในการกลั่นกรองว่าใครควรมาเป็นนายกฯ ถ้าคุณสนธิญาอยากมีศัตรูสัก 375-376 คน อันนั้นผมไม่เกี่ยวด้วย อาจ
ฟังคุณสนธิญาแล้วอึดอัดหัวใจมั้ย?
กัณวีร์ : จริงๆ ผมเองไม่อัดอัด หนึ่งฉันทามติพี่น้องประชาชน 14 ล้านเสียงต่างๆ นานา เป็นตัวชี้วัดที่เข้มแข็งที่สุดแล้วว่าพี่น้องประชาชนเลือกใคร เป็นฉันทามติพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ แต่เรื่องกลไกต่างๆ คงเป็นกระบวนการให้ผู้มีความรู้เข้าไปให้ความรู้ อย่างอาจารย์ที่มีหน้าที่ทำให้ทุกอย่างกระจ่างชัด แต่คนร้องก็คงมีหน้าที่ร้องต่อไป
ดร.ฟังแล้วกังวลใจมั้ย?
ดร.เชาวฤทธิ์ : ผมไม่กังวลอะไร ตัวผมเองอยากขอร้องทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะหน่วยงานใด ทุกส.ส. ทุกสว. ท่านเห็นกับประเทศไทยมั้ย อยากให้ประเทศไทยสงบสุขมั้ย อยากให้ประเทศไทยเดินหน้ามั้ย ที่ผ่านมาเดินหน้าสะดุด ไม่เรียบ เดินก็เหมือนเดินลูกรัง กุกๆ กักๆ ไป แต่เราจะทำยังไงให้มันผ่านพ้นวิกฤตตัวนี้ไปก่อน ให้พรรคก้าวไกลไปจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าเขาไม่ดีไม่อะไรตรงไหน สภาเขาตรวจสอบกันเอง ไม่ต้องไปร้อง ร้องทำไม เราอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้ ยกมือไม่รับรองให้ก็ได้ ผมว่าคุณพิธาเขาก็มีสปิริตในตัวเขาอยู่แล้ว เขามีความรู้ ความสามารถหลายๆ อย่าง ผมว่าเขาไม่ขัดอะไรหรอก
พี่ล่ะอึดอัดหัวใจมั้ย?
กฤดิทัช : กระบวนการทุกอย่างมีอยู่แล้วของมัน หน่วยงานที่รับเรื่องราวเขาก็ไม่กล้านิ่งเฉยหรอก เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใด หน่วยงานทุกหน่วยงาน กระบวนการทุกอย่างของเรามันขัดแข้งขัดขากันจนทำให้ประเทศไทยล้าหลังในการพัฒนา วันนี้เราต้องมาสู้กันด้วยสภา เอาฉันทานุมัติของเจ้าของบ้านที่เลือกเข้าไป ผมเองถ้ามองว่าเป็นสปิริตทางการเมือง ในเมื่อพรรคก้าวไกลเขาได้ฉันทานุมัติมาเสียงสูงสุด เขาควรได้รับโอกาส ส่วนกระบวนการก็ว่าไปตามกระบวนการของสภาไป
คุณสนธิญา ฝั่งพรรคร่วมทั้งสาม เขาบอกว่าทำไมต้องไปร้อง เอาไว้ดูผลงานในสภาก่อนมั้ย ถึงเวลานั้นถ้าไม่ดียังไงก็ว่ากัน มองยังไง?
สนธิญา : ถ้าชีวิตผมต้องตายด้วยมาตรา 112 ผมก็ยอม สองไม่จำเป็นต้องรอไปถึงในสภาหรอก พฤติกรรมกับคำพูดตรงนี้ก็บอกอยู่แล้วว่าคุณจะทำอะไร ผมไม่เห็นด้วยกับการไปสนับสนุนเพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 จบมั้ยประเด็นนี้
กัณวีร์ : เรื่องนี้มันมีกระบวนการอยู่แล้ว ตามที่ท่านอาจารย์ได้พูดไป ถ้าสามารถปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการที่มีอยู่แล้ว ก็สามารถทำให้ทุกอย่างเดินต่อไปได้ แต่จริงๆ การร้องซ้ำคงไม่มีปัญหาอะไรเพิ่มเติม เพราะเป็นการร้องซ้ำไปเรื่อยๆ ทางกกต.ท่านก็คงพิจารณาต่อไป แต่จุดยืนคุณสนธิญาทุกคนก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าท่านมีจุดยืนอย่างไร พวกเราก็มีจุดยืนเหมือนกันถ้าเป็นจุดยืนของฝั่งประชาธิปไตยเอง
สนธิญา : คุณเป็นส.ส.มากี่สมัย
กัณวีร์ : ไม่เคยครับ ผมเป็นนักมนุษยธรรมครับ
สนธิญา : งั้นก็พอแล้วครับ ก็จบ ผมอยู่ในสภามานานก็พอจะรู้จักว่าการทำงานในสภาเป็นยังไง ผมอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ผมรู้จักส.ส.หลายคนเยอะแยะไปหมด
อาจารย์จะพูดอะไร?
อ.สมชัย : ก็อยากพูดให้ความเป็นธรรมกับคุณกัณวีร์ด้วย ว่าเขาไม่ได้เป็นส.ส. แต่เขาจะเป็น คุณสนธิญาก็ไม่เคยเป็นส.ส.เหมือนกัน ผมก็ไม่เคยเป็นเหมือนกัน ฉะนั้นไปเคลมว่าไม่เคยเป็นส.ส.แล้วจบกันไม่ได้หรอกครับ
สนธิญา : ไม่ๆ
ทำไมคนตอบว่า ค. ไม่เข้าใจ?
สนธิญา : นี่คือแนวคิดที่ชัดเจนแต่ละบุคคล คุณมีแนวคิดอย่างนั้นก็เรื่องของคุณ แต่ผมยืนยันแนวคิดชัดเจนของผมว่าผมไม่เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม
เข้าใจทางคุณสนธิญา เท่าที่ฟังมา ฝั่งก้าวไกล พรรคร่วม เมื่อวานนพ.ชลน่านก็มานั่งตรงนี้ ท่านพูดว่าเรื่อง 112 ต้องพูดคุยกันอีกครั้ง แต่ใน MOU ไม่มี 112 อยู่ใน MOU แต่ 112 สุดท้ายต้องไปดูกันอีกครั้งนึงว่ามันจะผ่านญัตติต่างๆ นานา หรือเปล่า เวลาเข้าไปอยู่ในสภา แต่ตรงนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น?
อ.สมชัย : ผมว่าเราตื่นเต้นไปกับเรื่อง 112 มากเกินไป อยากให้คนในสังคมเข้าใจ กฎหมายทุกมาตราย่อมมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ อย่างกฎหมายอาญาเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2499 นับถึงปัจจุบัน 67 ปี ในกฎหมายต่างๆ อาจมีเรื่องราวต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปทุกยุคทุกสมัย ก็อาจต้องมีการปรับปรุงไป ตอนนี้จะปรับปรุงอะไรก็แล้วแต่ ให้เป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ ให้สภาเขาไปคุยกัน ถ้าข้อเสนอเขาไม่ดีมันก็ไม่ผ่าน เราต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่เพราะระบบของเราเป็นระบบเลือกตั้ง มีส.ส.เป็นตัวแทนประชาชน เอาเรื่องนี้โยนเข้าไป คนส่วนใหญ่เห็นด้วย แก้ก็แก้ คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ไม่แก้ อย่าเพิ่งไปคิดล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร
คุณสนธิญาคิดล่วงหน้ามั้ย?
อ.สมชัย : ท่านมีความเป็นห่วง อาจมีความรักชาติ รักสถาบันสูง ก็ไปว่าท่านไม่ได้หรอก แต่ท่านต้องเคารพประชาชน ถ้าประชาชนเลือกผู้แทนมา แล้วประชาชนเขาว่าอย่างไร ก็ต้องว่ากันตามนั้น แล้วกรณีท่านเห็นต่าง ท่านตั้งพรรคแล้วเดี๋ยวประชาชนเลือกท่านเข้าไปเยอะๆ ท่านก็ไปทำการแก้กลับไปเป็นเหมือนเดิมอะไรก็แล้วแต่ก็เรื่องของท่าน ก็สามารถทำได้ นี่คือวิธีแห่งประชาธิปไตย
มองยังไง?
สนธิญา : วันนี้ผมไปยื่นเพื่อเร่งรัดให้มีการพิจารณาในการร้องคุณพิธา สองผมไม่ได้คิดไปเอง เพราะนโยบายนี้เกิดมาในช่วงที่เขาหาเสียง และผมเคยคัดค้าน ไม่ให้กกต.จดทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา เคยดูประวัติผมมั้ย ผมคัดค้านประเด็นนี้ เพราะอ.ปิยบุตรเคยคิดจะแก้มาตรา 112 ตั้งแต่ปี 55 พูดให้สวยพูดได้ แต่เอาความจริงมาพูด
เราพูดถึงวันนี้ดีกว่ามั้ย?
สนธิญา : ผมก็ยืนยันในประเด็น 112 ผมไม่เห็นด้วย คุณจะแก้กฎหมายที่ล้าสมัย กฎหมายมีเป็นพันๆ หมื่นๆ ฉบับคุณจะแก้ก็แก้ไป แล้ว 112 ผมถามว่ามันเร่งรัดตรงไหน มันเร่งด่วนตรงไหน
ตอนนี้เขาไม่มีการยื่นอะไรเลย?
สนธิญา : มันเป็นนโยบายว่าจะแก้
แต่มีส.ส.อื่นที่เข้าไปเป็นพรรคร่วม เขาก็ต้องคุยหรือเคาะกันอีกทีนึง?
สนธิญา : พรรคอื่นมีกี่คน
เป็นร้อย?
สนธิญา : เอางี้ลงสัตยาบรรณว่าคุณจะไม่แก้ จบ
อ.สมชัย : ถามนิดนึงคุณสนธิญา การแก้อาจแก้ไปในทางที่เบาลง หรือแรงขึ้นก็ได้ ยกตัวอย่าง หมอวรงค์ เวลาเขาหาเสียง เขาบอกว่าแก้ 112 แก้ให้โทษแรงขึ้น อย่างนี้ถ้ากรณีหมอวรงค์ว่าจะแก้ คุณสนธิญาว่ายังไง
สนธิญา : ประเทศจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้มั้ย
อ.สมชัย : มันเป็นปัญหาของสังคม ถ้าส.ส.เขาเห็นว่ากฎหมายบางเรื่องบางมาตราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพราะถ้าไม่แก้แล้วมันจะกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งในสังคม เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะหลายต่อหลายคนเขาเองจงรักภักดีนะ เช่นหัวหน้าพรรคผม เสรีรวมไทย เคยโดน 112 นะ ณ ขณะที่ตอนนั้นแข่งเป็นผบ.ตร. มีการร้องว่าท่านกระทำผิดกฎหมาย มีการหมิ่นในเรื่อง 112 นี่ตัวอย่างให้เห็นชัดเจนว่าบางทีกฎหมายนี้อาจมีช่องว่างในทางปฏิบัติที่อาจทำให้มีการกลั่นแกล้งกัน ฉะนั้นคนที่จะเป็นสมาชิกสภา ก็ต้องคิดแหละว่าในเมื่อเขามีหน้าที่ในการออกกฎหมาย กฎหมายตรงไหนก็แล้วแต่ในบ้านเมืองที่เป็นปัญหาก็ต้องคิดแก้ไข ไม่ได้ปล่อยให้ประเภทไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาในสังคม ผมว่าตรงนี้อย่าเพิ่งคิดตื่นตัวเกินไป แต่เรื่องที่คุณสนธิญาไปยื่นเร่งรัดกกต. ก็ถือว่าเป็นพลเมืองดี ก็ไม่เป็นไร กกต.ก็เร่งหน่อยแล้วกัน อยากให้กกต.วินิจฉัยว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นอย่างไร ถ้าวินิจฉัยแล้วเห็นว่าผิดก็ส่งต่อไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ไม่มีผลกระทบต่อตัวพรรค เป็นผลกระทบต่อตัวบุคคลเท่านั้นคือคุณพิธาคนเดียวซึ่งขาดคุณสมบัติ
เข้าใจเรื่องทั้งหมดที่อาจารย์อธิบายมั้ย?
สนธิญา : ที่ผมคุยไม่ได้พูดเรื่องเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ผมพูดว่าผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้มาตรา 112 เพราะไม่ได้เร่งด่วน จำเป็น
อ.สมชัย : ก็ไม่เป็นไรครับ ไปคุยกับสว.เยอะๆ ก็ได้ให้เขาเห็นตรงกับท่าน
สนธิญา : ไม่จำเป็นต้องคุยกับสว.
อ.สมชัย : แต่ถ้าคุยแล้ว มี สว.จำนวนนึงซึ่งอาจเกิน 66 คน หรือ 70 คนมาโหวตให้กับทางก้าวไกลต้องถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของเขานะคุณสนธิญาไปคุยแล้วไม่ได้ผล อย่างนี้ก็แล้วกัน
แต่เขาจะไปร้องขอคืนเครื่องราช?
อ.สมชัย : ต้องระวังนิดนึงว่าบางทีอาจไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของเขา ก็อาจโดนเรื่องหมิ่นประมาทได้
พูดแบบนี้เหมือนไปกดดันสว.หรือเปล่า?
อ.สมชัย : ผมไม่อยากให้คนในสังคมไปกดดันสว. ทุกฝ่ายเลยนะ ไม่ว่าจะฝ่ายก้าวไกลก็ตาม หรือฝ่ายตรงข้ามก็ตาม ให้สิทธิ์เขาตัดสินโดยอิสระ ทุกคนเป็นผู้ใหญ่แล้ว โอ้โห ประวัติการทำงานของแต่ละคนเป็นไงล่ะ อดีตข้ราชการระดับสูง นายพล นายพันต่างๆ มากมาย ตรงนี้ให้สิทธิ์เขาเถอะครับในการคิดอิสระว่าเขาจะเลือกใคร ถ้าคุณพิธาเหมาะสมก็เลือก ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ไม่เลือก แต่ต้องชี้แจงสังคมได้ว่าไม่เลือกเพราะอะไร
สนธิญาจะดันสุดซอยเหมือนกัน?
สนธิญา : ทุกคนต่างมีสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 4 ผมก็อยู่ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สว.ก็อยู่ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ผมมองว่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคม และไม่จำเป็นเร่งด่วนคุณจะไปทำทำไม
ดร.เชาวฤทธิ์ : คุณสนธิญาเคารพในสิทธิของท่าน แต่ท่านพูดว่าเป็นนโยบายพรรคก้าวไกลต้องแก้ 112 การแก้ได้ไม่ได้อยู่ที่สภา นิติบัญญัติ อยู่ที่ส.ส.ทุกคนเห็นด้วยมั้ย ถ้าเห็นด้วยก็ตามนั้น ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องแก้ ใครจะไปแก้ได้ ขนาดคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป เขาก็ยังมี แต่คดี 112 หมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูง ผมว่าหลายคนก็รับไม่ได้ที่จะไปแก้กฎหมาย ยกเลิกกฎหมายไม่ให้มีหมิ่นประมาทมันไม่ใช่ ต้องลองฟังให้ชัดก่อน ให้ชัดเจนว่าสภาไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วย ท่านก็มาท้วงหน้าสภามาเลย ผมก็จะรับประท้วงกับท่านอีกทีนึง
ดีมั้ย?
สนธิญา : วันนี้ผมก็บอกแล้วว่าผมไม่เห็นด้วย ถ้าเอาเข้าสภาเมื่อไหร่ ผมก็ขออนุญาตไปชุมนุมหน้าสภา ฟังผมให้สัมภาษณ์มั้ย นี่คือแนวคิดของผม ผมบอกว่าไม่เห็นด้วยไปแก้กฎหมาย 112 ที่มันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
กฤดิทัช : ถามว่าเร่งด่วนหรือไม่ นโยบายนี้เขานำเสนอต่อประชาชนแล้วประชาชนได้รับรู้รับทราบ มีฉันทานุมัติ 14 ล้านเสียง การที่เราอยู่ในกระบวนการตรงจุดนี้ คนมีอำนาจตัดสินใจคือประชาชน เมื่อสิ่งที่ทำขึ้นมาบอกว่าไม่เร่งด่วน ผมคิดว่าอาจเป็นมุมของท่าน แต่มุมนักการเมืองที่เขาคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและเอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ไข ผมเชื่อว่าเป็นทางออกที่ทำให้ประเทศเราเดินต่อไปข้างหน้าได้ กฎหมายที่ล้าหลังหรือไม่ดีเราสามารถแก้ไขได้เพราะบริบทสังคมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราจะไปยึดโยงว่าแก้ไม่ได้ไม่ได้เป็นปัญหาเร่งด่วน ผมมองว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนเพราะมันเกิดความขัดแย้งในสังคม และทุกอย่างควรไปจบที่สภา ถ้าขอแก้แล้วไม่ได้เราก็โหวตไม่ผ่าน แค่นั้นเอง นี่คือกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ดีที่สุด ที่ผมเห็นอย่างนี้
สนธิญา : ปี 2564-2565 ก้าวไกลและเพื่อไทยทำงานอยู่ในสภา ทำให้สภาล่มถึง 17 ครั้ง ขณะนี้เรื่องอยู่ปปช. ผมร้องอยู่ คนที่อ้างว่าจะแก้ไขเร่งด่วน เอามั้ยครับโยนปัญหานี้ให้เป็นประชามติของคนไทยทั้งประเทศ เอามั้ย
อ.สมชัย : เอาประเด็นสภาล่มนิดนึง ผมก็อยู่ในสภา ในฐานะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับ เหตุการณ์ที่ทำให้สภาล่มจนทำให้กฎหมายไม่ทัน และตกไป ผมดูไม่ใช่เพื่อไทยขาดนะ แต่เป็นพลังประชารัฐขาดนะ ลองเช็กดูอีกที ดูชื่อทั้งพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์อาจไม่เท่าไหร่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ดึงเรื่องนี้เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนกลับไปเป็นหาร 500 คือวิธีการคิดของเขาประหลาดมากเลย กฎหมายมาตอนแรกหาร 100 ตอนกลางอยากให้เป็น 500 แล้วก็อยากกลับไปเป็นหาร 100 อีก แต่ไม่ทันเพราะกฎหมายมันเดินหน้าไปเรื่อยๆ แล้ว ก็เลยใช้วิธีการที่ว่าไม่ประชุม ติดต่อกันไม่รู้กี่ครั้ง ผมเสียค่ารถไปสภา เสียค่าน้ำมัน ไปถึง 10 โมงเช้านั่งรอประชุม 10.30 น. สภาล่ม ไม่รู้กี่วันติดต่อกัน
ไปร้องมั้ยอันนี้?
อ.สมชัย : เป็นของพลังประชารัฐ และภูมิใจไทยด้วยนะ
สนธิญา : ทั้งหมด 17 ครั้ง ผมได้รายชื่อจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งมาให้ผมหมดแล้ว ร้องปปช.แล้วและอยู่ในคณะอนุเพื่อพิจารณาส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ปปช.พิจารณาอยู่
อ.สมชัย : เดี๋ยวๆ ส่งทบของผมไปประมาณ 5-6 ครั้งได้มั้ย ผมมีข้อมูลเหมือนกัน ว่าใครขาดประชุมบ้าง
สนธิญา : มีเรียบร้อย
อ.สมชัย : ก็เอาของผมไปเพิ่มไง
สนธิญา : ไม่ต้องครับ ผมไม่เอา
อ.สมชัย : ก็ถือว่าร้องฝ่ายเดียวสิ ฝ่ายที่คิดตรงข้าม
สนธิญา : ผมนำเอกสารของเลขาธิการของประธานสภาส่งมาให้ผมในการประชุม และระบุถึงข้าราชการที่ควบคุมการประชุม มีวิดีโอทุกอย่างพร้อม
อาจารย์แกบอกว่าเอาของแกไปเพิ่มมั้ย จะได้ร้องเพิ่มอีก?
อ.สมชัย : จะได้ทีเดียวเลย มัดรวมคนไหนขาดประชุม สว.ด้วย สว.บางคนเห็นบอกเป็นญาตินายกฯ ไม่เคยประชุมทั้งปีเลย
สนธิญา : มันคนละเรื่อง ผมบอกส.ส. อย่ามั่ว
อ.สมชัย : อ้าว กินเงินเดือนประชาชนเท่ากัน ส.ส. สว. ก็รับใช้ประชาชนเหมือนกัน ไม่ทำหน้าที่ก็ต้องร้อง
สนธิญา : ผมบอกว่าส.ส.
อ.สมชัย : ทำไมอ่ะ สว.ต้องดีกว่าส.ส. เหรอ ถึงไม่ต้องร้อง
สนธิญา : ผมบอกว่าส.ส. เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
อ.สมชัย : สว.กินเงินเดือนเท่าส.ส. นะ บิลฟรีทั้งประเทศเหมือนกัน กินอาหารรัฐสภาก็เท่ากันนะ
สนธิญา : แต่ที่มาแตกต่างกัน
อ.สมชัย : ถ้าไม่ตั้งใจทำงาน เราต้องร้องทั้งหมดนะ เดี๋ยวมาเอาชื่อที่ผม ช่วยกันร้องเลยครับ ใครประเภททั้งปีไม่เคยมาประชุมเลยเนี่ย ผบ.เหล่าทัพ 6 คนก็ไม่เคยมาประชุมเลย
สนธิญา : แล้วทำไมไม่ไปร้องเอง
อ.สมชัย : ผมไม่ได้ตั้งใจจะร้อง แต่เผอิญคุณสนธิญาไปร้อง ผมถึงบอกว่าฝากพ่วงไปด้วยได้มั้ย ผบ.เหล่าทัพ 6 คน ทั้งปีไม่เคยประชุมเลย
สนธิญา : ผมร้องไปแล้วปีครึ่ง ไม่ใช่มาร้องตอนนี้
อ.สมชัย เขากำลังบอกว่าเอาไปร้องเพิ่มอีกมั้ย?
สนธิญา : ก็ไปร้องเองสิครับ
อ.สมชัย : ช่วยทำให้บ้านเมืองดีขึ้น
สนธิญา : ไปร้องเอง
อ.สมชัย : อ้าว แหม (หัวเราะ) ผมไม่ใช่นักร้องอาชีพ
สนธิญา : ก็เห็นร้องทุกเรื่อง
มีคนส่งข้อความมาเต็มเลย ว่าทานข้าวหรือยัง แอมชวนไปทานข้าว?
สนธิญา : เป็นเรื่องความคิดและยืนหยัดชัดเจนว่าประเด็นนี้ผมไม่แก้ไข ส่วนตัวท่านจะไปร่วมพรรคกันก็สามารถอธิบายในหลักการและเหตุผลเพื่อไปอยู่ร่วมกัน อันนั้นก็เป็นสิทธิ์ของท่าน ขออนุญาตผมต้องไปขึ้นประชุมนิดนึง
อ.สมชัย : บอกให้ร้องผบ.เหล่าทัพก็ไปซะแล้ว จริงๆ เป็นสิทธิ์ท่านที่จะไปร้องหรือไปติดตามก็ถือว่าท่านเป็นพลเมืองดี แต่ต้องบอกว่าทุกอย่างอยู่ในกระบวนการและกกต.ก็ต้องเดินหน้าทุกอย่างในเรื่องนี้ ก็รอดูกกต.แล้วกันว่าจะมีท่าทีหรือคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร
สองด่านที่คุณพิธาต้องฝ่าให้ได้?
อ.สมชัย : หนึ่งเรื่องคุณสมบัติที่กกต.รับเรื่องมาแล้วว่าการถือหุ้นสื่อดังกล่าวเป็นการขัดมาตรา 98(3) หรือไม่ ถ้าขัดกกต.ก็ต้องส่งเรื่องดังกล่าวส่งศาลให้พิจารณาต่อ ถ้าหลังเป็นส.ส.แล้วก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเห็นด้วยกับคุณสนธิญาว่าควรให้เสร็จสิ้นก่อนมีการโหวตนายกฯ ถ้าคุณทำช้าแล้วกลายเป็นว่าไปโหวตนายกฯ แล้วเดี๋ยววุ่นวายอีก ก็เคลียร์ให้จบไปเลยว่าได้หรือไม่ได้
ด่านที่สอง?
อ.สมชัย : การประชุมร่วมของรัฐสภา ซึ่งอาจเกิดขึ้นสักประมาณ 1 สัปดาห์ หลังประชุมครั้งที่หนึ่งที่ได้ประธานรัฐสภาแล้ว อันนั้นต้องโน้มน้าวจูงใจให้ส.ส. สว. ลงคะแนนเสียงร่วมกันให้มากกว่า 376 เสียง ซึ่งขณะนี้ก็ลุ้นอยู่ ผมคิดว่าแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากสว.เองก็ค่อยๆ ตอบสนอง ค่อยๆ เพิ่มทีละคน ยิ่งสื่อดีมากเลย ใครมาทางนี้ก็ลงรูปชมเชยให้ ทุกคนก็อยากได้รับคำชมเชย ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ แต่ก็ยังเป็นอะไรที่ไม่สามารถวางใจได้ว่าจะผ่านหรือไม่ ก็ถือเป็นความท้าทาย ทำงานก็ต้องมีอุปสรรคแน่นอน
ไม่ถนัดทำการเมือง แต่พอได้มาทำก็สนุกจริงๆ?
อ.สมชัย : ต้องเชิญสนธิญาและอ.สมชัยมาบ่อยๆ
ท้าเลยนะ?
อ.สมชัย : (หัวเราะ)
เอาพี่ศรีผู้มีแสงอีกสักหนึ่งมั้ย?
อ.สมชัย : ยินดี (หัวเราะ)