ปตท.เผยปีนี้นำเข้า LNG ตลาดจรแตะ 6 ล้านตัน สูงขึ้นจากปีก่อนนำเข้า 3.3 ล้านตัน หวังรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ราคา LNG ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 9 เหรียญสหรัฐ ระบุเป็นต้นทุนต่ำกว่าการนำดีเซลมาใช้ผลิตไฟฟ้า มีผลให้ค่าเอฟทีปรับลดลง
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2566 คาดว่าจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ตลาดจร(SPOT)ประมาณ 100 ลำเรือๆละประมาณ 6 หมื่นตัน หรือประมาณ 6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ปตท.มีการนำเข้า LNG 53 ลำเรือ หรือคิดเป็น 3.3ล้านตัน ซึ่งขณะนี้มีการสั่งซื้อและนำเข้า LNG แล้ว 60 ลำเรือหรือประมาณ 4 ล้านตันที่ระดับราคาต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่กกพ.เห็นชอบในการจัดหาและต่ำกว่าปีก่อนที่ราคา SPOT LNG เคยพีคสูงถึง 40 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
ทั้งนี้สาเหตุที่ปีนี้ไทยมีการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ปริมาณการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น และราคา SPOT LNG ได้ปรับลดลงมาจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เป็นระดับราคาที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าด้วย ส่งผลให้ค่าต้นทุนไฟฟ้าผันแปร(Ft)ปรับลดลง ส่วนราคา SPOT LNG ปลายปีนี้คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูตามความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่โอกาสที่ราคา LNG จะปรับขึ้นสูงมากเหมือนปีก่อนคงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีการผลิตก๊าซฯเพิ่มมากขึ้นและสหภาพยุโรปก็ปริมาณการสำรองก๊าซฯที่สูงด้วย
สำหรับกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.ประกอบด้วย ธุรกิจที่ ปตท.ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและสายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย รวมถึง ธุรกิจที่ ปตท.ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ซึ่งมีผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 /2566 คิดเป็น 31% ของกำไรสุทธิของ ปตท.หรือ 8,748 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธกิจหลัก และก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond
โดยในปี 2565 สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ร่วมลดผลกระทบแก่ประชาชน และบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย การจัดหา LNG แบบตลาดจรในช่วงเวลาเร่งด่วน จัดหาและสำรองน้ำมันดิบในภาวะการขาดแคลนทั่วโลก รวมถึงการบริหารต้นทุนพลังงาน ปรับการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย
นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กล่าวว่า ปตท.ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท.เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน นอกจากนั้นยังมีการนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงานผันผวน เป็นต้น
ทั้งนี้ด้านกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่ม กำหนดแผนธุรกิจใหม่ภายใต้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Management Business) รวมถึงแผนธุรกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. อาทิ เตรียมการเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลงทุนในธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) เป็นต้น โดยธุรกิจใหม่ในปี 2565 มีสัดส่วน 15% ของEBITDA ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 30% ของEBITDA ในปี 2573